วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวลง เลิกจ้างแรงงาน อัตราการว่างงานของไทยสูงขึ้น “กระทรวงแรงงาน” จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการพยุงให้รอดทั้งในส่วนของสถานประกอบกิจการ และแก้ปัญหาคนตกงานให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงปากท้องต่อไปได้ ดังนั้น ’เสี่ยเฮ้ง“ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดอบรมอาชีพให้กับประชาชน ได้มีวิชาติดตัว สามารถเผชิญกับทุกปัญหาทั้งในวันนี้ และวันหน้า

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมีอยู่มาก ล่าสุดก็เดินหน้า โครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมมอบเครื่องมือทำมาหากินเป็นทุนในการทำมาหากินด้วย เมื่อคนไทยมีงานทำ มีรายได้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ก้าวผ่านเส้นความยากจน สังคมก็จะดี ประเทศชาติในภาพรวมก็ดีขึ้นตามมา เพราะฉะนั้นการฝึกอาชีพให้คนไทย เป็นการลงทุนที่ถือว่ามีความคุ้มค่า

สำหรับรายละเอียดเชิงลึกของโครงการนี้ “นางสาวบุปผา เรืองสุด” รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบายว่า โครงการพัฒนาทักษะให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งชาติ จริง ๆ เป็นโครงการต่อเนื่อง แต่ในปีนี้กรมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือสำหรับมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรม เพื่อจะได้นำไปต่อยอดประกอบอาชีพด้วย และระหว่างการฝึกก็มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 120 บาท เพราะช่วงที่อบรมก็ต้องขาดรายได้ไป เช่น ที่จังหวัดชลบุรี โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากผ้าเพื่อการพาณิชย์ ณ กลุ่มสตรีผ้าบาติก ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งอบรมเมื่อวันที่ 27- 28 ก.พ. และ 3-5 มี.ค. ที่ผ่านมา 20 คน

รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่อได้รับความรู้แล้ว และมีรายได้น้อย การจะหาเงินไปลงทุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปประกอบอาชีพ จึงยากที่จะทำได้ จึงมอบหมายให้กรมฯ จัดทำโครงการฝึกอบรมพร้อมกับจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพให้ โดยหวังว่าช่วยให้สามารถประกอบอาชีพได้จริงโดยมีการติดตามผลเป็นระยะ”

อีกด้านหนึ่ง นางสาวทัศนีย์ เอี่ยมศรี หรือป้าเจี๊ยบ วัย 60 ปี ผู้ผ่านการอบรมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี หลักสูตรการประกอบขนมอบ เล่าว่า ปัจจุบันอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านของตนเอง หาเลี้ยงชีพด้วยการขายข้าวเหนียวหมูปิ้งหน้าโรงเรียนในวันธรรมดา ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะขายในตลาดสด มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 3,500-4,000 บาท

ทั้งนี้ หากโรงเรียนปิดเทอมรายได้ก็ลดลง แม้จะเปลี่ยนมาขายในตลาดทุกวันแต่รายได้ก็ไม่เท่ากับที่ขายหน้าโรงเรียน โดยเฉพาะระยะหลัง ๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาเนื้อหมูที่ดีดตัวสูงขึ้น กำไรที่ได้ก็ลดลงกว่าครึ่ง จึงต้องหาอาชีพเสริม โดยเป็นตัวแทนขายเครื่องสำอาง ส่งแคตตาล็อกสินค้าเร่ขายในหมู่บ้าน แต่ก็มีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่แต่ละรอบที่มีคนสั่งและได้เปอร์เซ็นต์ในการขายต่อเดือนประมาณ 300-1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ารับการอบรมสูตรการประกอบขนม อบ ซึ่งใช้เวลากว่า 30 ชั่วโมง ตามโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 ซึ่งนอกจากจะทำให้ตนมีทักษะฝีมือที่เพิ่มขึ้นแล้ว หลังฝึกจบยังได้รับมอบอุปกรณ์ทำขนมให้ด้วย ทำให้ตนมีทางเลือกการทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีก

ขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ได้มีความรู้ มีอุปกรณ์ต่อทุน มีอาชีพเสริม เลี้ยงดูตนเองได้ สร้างงานให้ชุมชนที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน”.