ขณะที่ ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 เป็นสนามที่มีความท้าทายอย่างมากและเป็นตัววัดฝีมือของพรรคเก่าแก่แห่งนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสมาสนทนากับ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแนวทางการนำทัพสู้ศึกใหญ่ไปสู่เป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศ  

แม่ทัพใหญ่แห่งค่ายสีฟ้า เริ่มบอกเล่าถึงการเข้าร่วมรัฐบาล ที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ว่า ประชาธิปัตย์ ไม่มีปัญหา เราเข้าใจบทบาทของการเป็นรัฐบาลผสม และในการเข้าร่วมรัฐบาล เรามีเงื่อนไข 3 ข้อ อย่างได้รับทราบกัน คือ 1.ต้องรับนโยบายของเราเรื่อง การประกันรายได้เกษตรกร ให้อยู่ในนโยบายรัฐบาล 2.ต้องมีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 3.รัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งตลอดเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ และเราทำหน้าที่พรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐสภาอย่างเต็มที่ จึงถือว่าได้สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งในการบริหารราชการแผ่นดินและในฝ่ายนิติบัญญัติ

@ เมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เกิดกรณี ส.ส. ย้ายพรรค และมีบางพรรคตกปลาในบ่อเพื่อน

ถ้าคนที่คิดตั้งพรรคการเมือง ไปตกปลาในบ่อเพื่อน ก็ยากที่พรรคนั้นจะเป็นสถาบันทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวอย่างของ สถาบันทางการเมือง ที่มีความยั่งยืน เรากำลังจะมีอายุครบ 77 ปี การที่เราเป็นสถาบันทางการเมืองได้ เพราะสร้างคนคุณภาพ สร้างนักการเมืองที่มีศักยภาพเข้าสู่การเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเราตกปลาในบ่อเพื่อน แล้วเราจะสถาบันทางการเมืองได้อย่างไร เพราะจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ และถ้าประชาชนเลือกพรรคเฉพาะกิจ ก็จะได้อนาคตเฉพาะกิจ ซึ่งสิ่งที่ผมพูดนี้ ไม่ได้หมายถึงใคร แต่พูดถึงหลักการโดยทั่วไป

@ ปชป. วางยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร

เราเตรียมไว้ 3-4 เรื่องอย่างสมบูรณ์แบบ คือ 1.การวางตัว ผู้สมัคร 2.ระบบบริหารจัดการภายในพรรค เรามีนิพนธ์ บุญญามณีเป็น ผอ.การเลือกตั้ง เป็นตัวหลัก 3.นโยบาย ที่เรามีเป็นร้อยนโยบายอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” เพื่อนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดี โดยเรื่อง การสร้างเงิน เราถือว่าเศรษฐกิจมีความสำคัญไม่แพ้การเมือง ส่วน การสร้างคน คือ ดีเอ็นเอของ ปชป. ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา การสาธารณสุข และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำหรับ การสร้างชาติ ต้องสร้างด้วยอุดมการณ์ที่เรามั่นใจว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนยึดมั่นร่วมกับเราขับเคลื่อนประเทศได้

@ ปชป. หวังว่าจะได้เสียง ส.ส. เท่าไหร่จึงจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล

ต้องได้ ส.ส. มากกว่าเดิม แต่จะมากขนาดไหนนั้น มันไม่แน่นอน เพราะเที่ยวนี้ แต่ละพรรคเกือบจะเรียกได้ว่าพอๆ กัน ปชป. อาจได้กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยคนที่จะเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภา มีทั้งกรณีของพรรคที่มี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งเข้ามากที่สุดพรรคเดียว และมีกรณีพรรคที่สามารถรวมเสียง ส.ส. จากพรรคอื่นมาได้มากพอเป็นเสียงข้างมากในสภา ก็จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล จึงอยู่ที่การรวมเสียง ส.ส. ซึ่งในอนาคต ปชป. อาจสามารถรวมเสียงข้างมากก็ได้

@ การไม่ได้ ส.ส. ใน กทม. เลยรอบที่แล้ว ทำให้ ปชป. ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

สถานการณ์ครั้งที่แล้วต่างจากครั้งนี้ ครั้งที่แล้วมีความขัดแย้งรุนแรงมาก มีแบ่งว่า “เอาหรือไม่เอาทักษิณ” หรือ “เอาหรือไม่เอาตู่” ให้เลือก 2 ขั้ว ส่วนเที่ยวนี้การเมืองกำลังเดินเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยตามปกติ ที่เป็นการแข่งขันกันระหว่างหลายพรรคการเมือง ผมจึงอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น เพื่อจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้หลังจบการเลือกตั้ง

@ มีหลายพรรคลงแข่งขันในภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ของ ปชป. คิดว่าอะไรที่ทำให้คนใต้ยังต้องไว้วางใจ ปชป.

ปชป. เป็นตัวยืนในภาคใต้มาหลายสมัย มีคู่แข่งหมุนเวียนเข้ามา ไม่ได้หมายความว่าเราเก่ง แต่หมายความว่าเรามีความยั่งยืน มีคนในภาคใต้จำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึกว่าเขามีจิตวิญญาณของ ความเป็นประชาธิปัตย์ ปชป. คือพรรคของเรา คือคนของเรา เขาเห็น ปชป. ยืนหยัดอยู่กับคนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2489 เราทำงานให้กับคนภาคใต้เยอะมาก เหมือนกับที่ทำให้คนทุกภาค แม้ครั้งที่แล้ว เราได้ ส.ส.ภาคใต้ 22 ที่นั่ง แต่ถือว่า ปชป. เป็นที่ 1 ในภาคใต้ สำหรับครั้งที่จะถึงนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะได้ ส.ส. ในภาคใต้เยอะ แต่ยังไม่อยากบอกว่าจะได้เยอะเท่าไหร่

@ ปชป. มีภาพความเป็นอนุรักษนิยม จะเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

ปชป. เป็นพรรคของคนทุกรุ่น มีผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์ และเป็นหางเสือถือทิศทางให้ เรือประชาธิปัตย์ แล่นไป เรายังมี คนรุ่นกลาง อยู่หลายคน และมี คนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาต่อเนื่อง มาเป็นอนาคตของพรรค “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองไม่กี่พรรค ที่มีอดีต มีปัจจุบัน และมีอนาคต อาจมีบางพรรคที่มีปัจจุบันแต่ไม่รู้ว่าจะมีอนาคตหรือไม่ บางพรรคอาจมีปัจจุบัน แต่ไม่มีอดีต นี่คือข้อเด่นและเป็นความต่างของเรากับหลายพรรค และยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่สนับสนุนเรา มิฉะนั้น ยุวประชาธิปัตย์ คงเกิดไม่ได้จากรุ่นสู่รุ่น

@ จุดยืนทางการเมืองของ ปชป. หลังจบการเลือกตั้ง คืออะไร

คือ การให้ประชาชนเป็นคนแรกที่ให้คำตอบ ว่าจะให้คะแนนเสียงแต่ละพรรคเท่าไหร่ เพราะระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพเสียงของประชาชน จากนั้นใครรวมเสียงข้างมากได้ ก็ไปเป็นรัฐบาล ใครมีเสียงข้างน้อยก็เป็นฝ่ายค้าน

@ ปชป. ไม่มีปัญหาในการร่วมกับพรรคใดใช่หรือไม่

ผมไม่ขอตอบเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของมติพรรคที่จะเกิดขึ้น หลังจากประชาชนให้คำตอบทุกพรรคแล้ว โดยมติพรรคจะมาจากการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรค ส.ส. และผู้ที่ที่เกี่ยวข้อง

@ อะไรคือจุดขายของ ปชป. ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ปชป. ขายอุดมการณ์ ขายตัวบุคคลและทีม ขายนโยบาย และขายผลงาน โดยอุดมการณ์ คือ 1.อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.อุดมการณ์ประชาธิปไตยสุจริต และ 3.อุดมการณ์ประชาธิปไตยท้องอิ่ม เพราะประชาชนต้องท้องอิ่มด้วย จึงจะทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้า ดังนั้นจำเป็นที่ต้องเดินหน้าเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

@ ถ้ามี 1 เรื่องที่ ปชป. อยากสื่อสารกับประชาชน เรื่องนั้นคืออะไร

เราหวังว่าคนไทยทั้งประเทศจะสนับสนุนการเมืองที่สะอาด การเมืองสุจริต เพื่อทำให้ประเทศเติบโต เพราะการทุจริตจะบั่นทอนประเทศและประชาธิปไตย

@ เช้าวันใหม่ในวัน ที่ประเทศไทยมีนายกฯ ชื่อ “จุรินทร์” จะเป็นอย่างไร

จะได้อนาคตที่ดีกว่า ผมมั่นใจในทุกด้าน มั่นใจในอุดมการณ์ มั่นใจในความซื่อสัตย์สุจริต และมั่นใจในความเป็น “นายจุรินทร์” ที่สั่งสมทุกอย่างมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งภูมิความรู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งประสบการณ์จากการเป็น ส.ส. 11 สมัย จากการเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง ชีวิตของผมอุทิศให้กับการทำงานการเมือง เพราะหวังว่าวันหนึ่ง ผมจะมีโอกาส ถ้าประชาชนจะให้โอกาสผม นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดี

@ วันนี้ยังยืนยันเหมือนเมื่อปี 2562 หรือไม่ว่า ประชาธิปไตยวิปริต เพราะ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ

ผมยืนยัน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นประชาธิปไตยวิปริต เพราะไม่ใช่หลักการตามระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น เราจึงพยายามแก้ไขให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น แม้ผมเห็นด้วยกับการมี วุฒิสภา คู่กับ สภาผู้แทนฯ แต่ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน จึงควรมีเฉพาะอำนาจ กลั่นกรองกฎหมาย และ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ ไม่ใช่เลือกนายกฯ ดังนั้นเราเห็นด้วยหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกฯ

@ กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้ ส.ว. ไม่โหวตให้คุณจุรินทร์เป็นนายกฯ

ผมไม่ได้ดูผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ดูหลักการประชาธิปไตย คนที่จะมาเป็นนายกฯ อย่างน้อยต้องได้เสียงข้างมากในที่ประชุมรัฐสภา และต้องได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ มิฉะนั้นจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย บริหารประเทศไม่ได้