เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เรื่อง “New Era of Preventive Medicine in Genomic Medicine” พร้อมบรรยายเรื่อง อนาคตงานเวชศาสตร์ป้องกันของประเทศไทย ว่า การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายน้อย ดื่มสุรา สูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นภาระในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด ทั้งนี้การลดปัญหาต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ที่สร้างเสริมสุขภาพ ปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นระบบ ช่วยป้องกันและลดโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยให้ผู้ที่ป่วยอยู่แล้วควบคุมอาการได้ ช่วยให้ผู้รับบริการปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาของแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั้งนี้ สธ. มีนโยบายพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นผู้ให้บริการหลักในระบบบริการปฐมภูมิร่วมกับทีมบริการสุขภาพ ช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ในชุมชน ลดภาระการให้บริการในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังเน้นการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย หรือผู้รับบริการเพื่อส่งเสริมการปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในชุมชนของตนเอง และสอดคล้องกับหลักการให้บริการด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต ได้แก่ การลด ละ เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ถูกสุขลักษณะ การมีกิจกรรมทางกาย การนอนหลับ และการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร/การถ่ายทอดความรู้ ให้มีประสิทธิภาพในการจัดการพฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์ที่จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต
ด้าน นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการฯ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เนื่องจากตระหนักถึงการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และให้ความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นระบบ สำหรับศาสตร์เวชศาสตร์วิถีชีวิต จะว่าด้วยเรื่องการสร้างวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี การบริโภค การบริหารความเครียด การนอนหลับ การคุมน้ำหนัก การฝึกสมาธิ การบำรุงรักษาร่างกาย และการลดละเลิกสิ่งเสพติด ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต.