เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนบรมราชชนนี นายรังสิมันต์ โรม อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางมายังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ปากคำในฐานะพยานในการดำเนินคดี นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ที่มีข้อครหาพัวพันขบวนการฟอกเงินการค้ายาเสพติดของทุน มิน ลัต

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ วันนี้ตนก็มั่นใจในพยานหลักฐานที่มีแต่คนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายควรทำตัวเองให้มีประโยชน์ด้วยไม่ใช่ปล่อยให้คดีมันเฉื่อยชาเป็นแบบนี้ แล้วถ้าตนจำไม่ผิดคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร เมื่อเดือน ม.ค.นี้เอง จนถึงก่อนที่มีความชัดเจนว่าเป็นคดีนอกราชฯ ทำไมตำรวจ บช.ปส.ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้

ตนก็มีความคาดหวังว่า พนักงานอัยการจะทำหน้าที่ของตน ให้มีประสิทธิภาพ ดูจากการที่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ปฏิบัติงานมา ตนก็ค่อนข้างมีความคาดหวัง เพราะดูแล้วท่านก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม ก็หวังว่าคดีนี้ทางอัยการสูงสุดจะให้ความสำคัญเช่นกัน มิฉะนั้นอาจจะถูกคนครหาไปต่างๆ นานา ที่จะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ถ้าตนเป็นอัยการหรือตำรวจตอนนี้ตนออกหมายจับ ส.ว.ทรงเอ ไปแล้ว เพราะถ้าเกิดการหลบหนีขึ้นมาใครรับผิดชอบ ทางอัยการสูงสุดรับผิดชอบไหวหรือ ทาง บช.ปส. รับผิดชอบไหวหรือไม่และตนบอกไว้เลยถ้าเกิดถึงตอนนั้น คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เดือดร้อนแน่นอน

เมื่อถามว่ามั่นใจหลักฐานที่นำมาหรือไม่ เมื่ออีกฝ่ายก็ดำเนินการฟ้องนายรังสิมันต์คดีทางอาญาเช่นกัน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะดำเนินคดี ทางตนก็มีพยานหลักฐานอยู่มากที่นำมาวันนี้เป็นเพียงบางส่วนหากทางอัยการต้องการตนก็กลับไปนำมาเพิ่มให้ได้ แต่ก็เชื่อว่าทางอัยการมีหลักฐานมากกว่าตน คิดง่าย ๆ ว่า นายทุน มิน ลัต โดนอย่างไร ส.ว.ทรงเอก็ควรโดนอย่างนั้น เพราะพยานหลักฐานชุดเดียวกัน แล้วที่อ้างว่าในช่วงโควิดนั้นด่านต่าง ๆ มีการปิดจะมีการขนย้ายถ่ายเทอย่างไร ตนต้องขอบอกว่ามันมีอีกหลายวิธีการ และโอนเงินได้ในช่วงนั้น การที่ ส.ว.ทรงเอ จะอธิบายชี้แจงอย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา แต่ตนก็ยืนยันว่า การทำหน้าที่ของตนได้ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อภิปรายในสภา ตนเป็นห่วงว่าสุดท้ายคดีนี้จะเกิดการล้มคดี

เมื่อถามว่า มีการยุบสภาไปแล้วทางนายรังสิมันต์ก็จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมายจะมีผลต่อการสู้ในเรื่องต่าง ๆ หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ทันทีที่ปิดสมัยประชุมก็จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับตอนออกหมายจับตัว ส.ว.ทรงเอ ก็ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นกัน ดังนั้น ถ้าตั้งแต่วันนั้นก็สามารถออกหมายจับได้ ไม่ได้เป็นการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติอย่างไร ทั้งนี้ ตนไม่ได้เป็นส.ส.แล้วก็คงมีข้อจำกัดในเรื่องที่ตนต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งด้วย ก็ต้องแบ่งเวลาจัดการบริหารมากกว่า แต่ในเรื่องนี้ตนก็ยังจะเดินหน้าต่อไป และตนก็มั่นใจว่าแค่ดูพยานหลักฐานที่ตนมี เราสามารถนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แล้ว ต่อไปก็เป็นการพิจารณาของศาลทำหน้าที่ ว่าสุดท้ายจะจบอย่างไร

โดยนาย วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธ.อัยการการสอบสวน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการร่วมสอบสวนที่อัยการสูงสุดได้ตั้งขึ้น กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายรังสิมันต์ได้เคยยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐาน 13 ฉบับ อัยการสูงสุดซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในความผิดนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 จึงได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการสอบสวนกับ บช.ปส.3 ร่วมกันเป็นพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนประชุมร่วมกันแล้วเห็นควรว่า เมื่อนายรังสิมันต์ อ้างว่ามีพยานหลักฐานดังกล่าว ทางคณะทำงานสอบสวนจึงเรียกมาสอบในฐานะพยาน และให้ยื่นเอกสารเข้าสู่สำนวนการสอบสวน เพื่อที่จะได้เป็นการสอบสวนที่ถูกต้องเป็นระบบ ผ่านชุดพนักงานสอบสวนที่อัยการสูงสุดได้ตั้งขึ้น

สำหรับความคืบหน้าในคดีขณะนี้มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่ 1. คือคดีทุน มิน ลัต กับพวกซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ส่วนที่ 2 นี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกันเราก็เลยรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ พร้อมทั้งอาศัยพยานหลักฐานในชุดเดิม รวมถึงการสอบสวนเพิ่มเติมใหม่ จากเดิมที่อัยการสูงสุดได้สั่งสอบเพิ่มเติมไว้ 4 ประเด็น ซึ่งได้ทำการสอบหลักฐานสำคัญเสร็จไปแล้ว 3 ประเด็น โดยตั้งแต่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ 26 ม.ค. ทางคณะทำงานงานก็ทำงานกันไม่หยุด จนถึงปัจจุบันก็ทำงานกันมาตลอด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการล่าช้าแต่อย่างใด และในช่วงอีก 2-3 วันนี้ ทางคณะทำงานสอบสวนก็จะเดินทางไปสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก ด้วย ซึ่งภายในเดือนนี้คาดว่าสรุปสำนวน เสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาซึ่งยืนยันว่าจะทำสำนวนให้รวดเร็วที่สุด

“คดีนี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักรเป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 เป็นอำนาจอัยการสูงสุดแต่ผู้เดียว คณะทำงานจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ดีที่สุดเพื่อนำเสนอ อสส. จะพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้เสร็จในสิ้นเดือนนี้ ให้ อสส.เป็นผู้พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่อย่างไร “

เมื่อถามว่าจะต้องเรียกนายอุปกิตมาสอบสวนด้วยหรือไม่ นายวัชรินทร์ กล่าวว่า อันนี้แน่นอน ถ้าพยานหลักฐานที่กำลังจะเดินทางไปสอบสวนนี้แล้วเสร็จจะนำพยานหลักฐานที่เสร็จสิ้นแล้วมาเพื่อสอบสวนต่อ เพราะว่าเราทำการสอบสวนไม่ได้เพื่อที่จะสอบสวนไปเพื่อที่จะแจ้งข้อหาหรือจับนายอุปกิตก่อน แล้วค่อยสอบสวนหาพยานหลักฐาน แต่เราจะทำจากการหาพยานหลักฐานทั้งหมด ให้ครบถ้วน แล้วค่อยพิจารณาว่านายอุปกิตได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ จึงค่อยจะพิจารณาทำการแจ้งข้อกล่าวหา เพราะถ้าเราไปแจ้งข้อกล่าวหาเลยก่อนที่จะมีพยานหลักฐาน

ระยะเวลาต่าง ๆ ตามกฏหมาย มันจะมีระยะเวลาในการทำงานตาม ป.วิอาญา มาตรา 143 แต่ถ้าเราสอบสวนพยานทุกอย่างเสร็จสิ้น ชัดเจนแล้ว ตรงนี้มันจะเป็นแนวทางการสอบสวนที่ถูกต้อง ก็คือการสอบทั้งสองฝ่ายทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเรียกว่าจะต้องดูพยานหลักฐานที่คณะทำงานกำลังทำกันอยู่

ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า วันนี้อัยการได้เชิญ นายรังสิมันต์ มาให้ถ้อยคำ จากการที่ นายรังสิมันต์ ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอส่งหลักฐานเอกสาร เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 โดยขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาพยานหลักฐานที่คุณรังสิมันต์ อ้างถึงทั้งหมดตามเอกสารเพื่อพิจารณาในการสั่งคดีที่มีการกล่าวหา ส.ว. ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้สำนักงานการสอบสวนพิจารณาดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อัยการสำนักงานการสอบสวนได้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามยาเสพติดเสพติด 3 คณะทำงานของอัยการและพนักงานสอบสวนจึงพิจารณาประชุมร่วมกันและเชิญนายรังสิมันต์ โรม มาให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่อ้างถึงเข้าสู่สำนวนการสอบสวน ในวันนี้ (21มี.ค.) โดยมี นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีเข้าร่วมกำกับการสอบสวน พร้อมกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามยาเสพติด 3 สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามพยานหลักฐาน ตามนโยบายของอัยการสูงสุดในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสังคมโดยเคร่งครัด.