ประเทศไทยติด 1 ใน 5 อันดับของโลกที่มีปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล โดย 80% ของขยะมาจากบนบกไหลลงสู่ทะเล ส่วน 20% มาจากกิจกรรมทางทะเล เช่น การประมง การท่องเที่ยว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ลงพื้นที่หมู่บ้านเกาะมุกด์และบ้านมดตะนอย ในตำบลเกาะลิบง อ.กันตรัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งและมีปัญหาขยะล้นชุมชนมายาวนาน จากการสำรวจในพื้นที่พบว่าขยะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ ที่ขาดความรู้ในการจัดการขยะ มากกว่านักท่องเที่ยว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย ให้ความสำคัญในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง มีหน่วยงานท้องถิ่นหลายองค์กร เข้ามามีส่วนร่วมในแผนงานอย่างชัดเจน สร้างพื้นที่ต้นแบบผ่านโครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในทะเล ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ตรัง สตูลและกระบี่ เพื่อขยายผลให้พื้นที่อื่นต่อไป

“โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงผู้ก่อให้เกิดมลพิษ และหากเราไม่ทำอะไรเลย ขยะจะล้นชุมชน และส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเทขยะกองไว้ เมื่อเทกองกันเยอะๆ จะเกิดตัวเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าหนู แมลงสาบ แต่หลังจากดำเนินโครงการ เห็นได้ชัดว่าขยะลดลง ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะที่นำไปสร้างมูลค่าทางการเงินต่างๆ หรือความสวยงาม ชุมชนต่างๆ ดูสะอาดตามากขึ้น”

นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย กล่าวว่า เมื่อปี 2557 ได้จัดตั้งเวทีทำประชาคมหมู่บ้านมดตะนอย คนในพื้นที่เห็นตรงกันว่าขยะในชุมชนมีเยอะมาก จากการไม่รู้วิธีจัดการ ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพ เช่นไข้เลือดออก โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ที่ทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เข้ามามีส่วนร่วมให้ความรู้เรื่องสารก่อมะเร็งจากโฟม เพื่อช่วยให้คนในชุมชนลดการใช้โฟม อีกทั้งยังมีคณะทำงานในการจัดการขยะอยู่ 40 คน กระจายไปพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน ให้เป็นแกนนำในการดูแลขยะ ซึ่งทำให้ตอนนี้หมู่บ้านมดตะนอยเป็นพื้นปลอดโฟม 100 % และจะมุ่งไปที่การลดใช้พลาสติกต่อไป

นางสาวมณีวรรณ สันหลี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า เกาะมุกด์ เป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในช่วงก่อนโรคระบาดโควิด-19 รอบเกาะจะพบขยะพลาสติกที่ทิ้งไม่ถูกต้องอยู่ทั่วทุกพื้นที่ จนทำให้เกิดการถ่ายภาพขยะเหล่านั้นส่งต่อกันในโซเชียล เป็นที่มาให้หลายภาคส่วนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุนงบประมาณนำเรือมารับขยะไปยังเตาเผา เดือนละ 3 ครั้ง แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงจัดอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องการคัดแยกขยะแบบยั่งยืน รวมถึงสร้างโครงการรับซื้อวัสดุรีไซเคิล เพื่อจัดการจัดขยะและทำให้เกิดเป็นรายได้ โดยจะนำขยะรีไซเคิลขึ้นฝั่งได้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งประมาณ 1-2 ตัน ทำให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้นในชุมชน และทำให้คนในชุมชนสามารถดูแลจัดการขยะของตัวเองได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิอันดามันและภาคีเครือข่าย จัดโครงการลดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในทะเล เพื่อขับเคลื่อนปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล ใช้ระบบรีไซเคิลให้ชุมชนจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ที่สร้างรายได้และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รวมทั้งศึกษานำไปสู่ข้อเสนอด้านนโยบาย ขยายไปในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป