เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเพื่อลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะจำนวน 185 คนเป็นผู้เสนอ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุม นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นหารือว่า มีเหตุการณ์เร่งด่วน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้ใช้เวทีรัฐสภาแถลงข่าว ซึ่งทางสภาฯ ไปอนุญาตให้นายเสกสกล ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาใช้โพเดียมแถลงข่าวในฐานะอะไร และยังมาแถลงว่ายื่นให้ตรวจสอบจริยธรรม 3 ส.ส. ได้แก่ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม และนายณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ตนขอให้ประธานสภาฯ ตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

ทำให้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องการมาพูดถึงเรื่องการใช้เวทีสภาฯ แถลงข่าว แต่เป็นเรื่องการลงมติฯ และนายยุทธพงศ์เคยโดนชกปากในห้องฝ่ายค้านมาแล้ว จากนั้นนายยุทธพงศ์ได้ลุกขึ้นใช้คำพูดสวนกลับนายวีระกร ทำให้นายชวนต้องควบคุมการประชุม โดยนายชวนระบุว่า ถ้าเราไม่เกรงใจสภาฯ ก็อายชาวบ้านบ้าง เพราะคำพูดไม่เหมาะสมประชาชนจับตาดู ความเหมาะสมคืออะไร เราต้องรู้อะไรคืออะไร เรื่องที่นายยุทธพงศ์ เสนอมา เลขาธิการสภาฯ ได้แจ้งว่าพื้นที่ตรงนั้น เราใช้กันเป็นปกติ ห้องนั้นไม่ใช่ห้องแถลงข่าว เป็นที่ที่นักข่าวพบกับบุคคลที่มาแถลง ส่วนรายละเอียดคำร้องนั้นยังไม่มาถึงตน ถ้าทำผิดก็จะไม่ปล่อยเหมือนกรณีการกล่าวหาว่ามีการแจกเงินที่ได้ตั้งกรรมการสอบแล้ว อะไรที่เกิดขึ้นในสภาฯ ต้องช่วยกันดูแล เพราะสภาฯ ไม่มีชีวิต แต่คนมีชีวิต เราต้องช่วยกันดูแลสภาฯ เราคือส่วนประกอบสำคัญ การพูดกันขอให้นึกถึงคนฟังที่เป็นบุคคลภายนอกว่าควรหรือไม่ควร

ขณะที่นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิพาดพิงว่า มีชื่อตนปรากฏในการหารือของนายยุทธพพงศ์ หากตนไม่ชี้แจงจะได้รับความเสียหาย ตนใช้สิทธิ ส.ส.อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ และใช้ข้อมูลที่มีแหล่งข้อมูลชัดเจน ในสายตาอีกซีกหนึ่งที่พยายามปกป้องก็ไปยื่นร้องได้หากคิดว่าตนกระทำผิด และสามารถไปยื่นได้ต่อ ป.ป.ช.โดยตรง หากเป็นเรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรง แต่มาใช้เสทีสภาฯ มีเจตนาแอบแฝง ละเมิดสิทธิตน หากสภาฯ สอบแล้วไม่มีมูล ตนจะนำผลสอบนั้นไปดำเนินการฟ้องกลับนายเสกสกล

จากนั้นนายชวนได้เปิดการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมเพื่อลงมติ โดยขณะนี้มี ส.ส. จำนวน 482 คน แยกเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 272 คน และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 210 คน ซึ่งในการโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคน ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 151 ระบุว่า มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้จำนวน ส.ส. ในปัจจุบัน มีอยู่จำนวน 482 คน ดังนั้นไม่มติไม่วางใจต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 242 คน

จากนั้นเวลา 10.20 น. จึงเริ่มการลงมติลงคะแนน เริ่มที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มี ส.ส.ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม 472 คน ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนไว้วางใจด้วยคะแนน 264 ต่อ 208 งดออกเสียง 3  2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้รับคะแนนไว้วางใจด้วยคะแนน 269 ต่อ196 งดออกเสียง11 3.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้รับคะแนนไว้วางใจด้วยคะแนน 263 ต่อ 201 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 1 4.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้รับคะแนนไว้วางใจด้วยคะแนน 269 ต่อ 195 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 1 5.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับคะแนนไว้วางใจด้วยคะแนน 270 ต่อ 199 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน1 6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับคะแนนไว้วางใจด้วยคะแนน 267 ต่อ 202 งดออกเสียง 9 ทำให้ทั้ง 6 คน ได้รับคะแนนไว้วางใจให้ทำหน้าที่ต่อไป

อย่างไรก็ตามระหว่างการลงมติ นายกฯ ได้จิบกาแฟรับฟังการลงมติด้วยสีหน้าผ่อนคลาย มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่งรับฟังและให้กำลังใจอยู่ข้างๆ จากนั้นนายชวนได้สั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 10.35 น.