เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.66 ที่สำนักงานตรวจสอบภายใน ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยหลังร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายผู้ว่าฯสัญจรว่า สำนักงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานสำคัญในการตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด กทม. กว่า 750 หน่วยงาน รวมถึงตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 60 คน ถือเป็นภาระงานหนัก เนื่องจากมีหน่วยงานต้องตรวจสอบจำนวนมาก

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายในการตรวจสอบให้มีความโปร่งใส ประกอบด้วย 1.เน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 2.ความพร้อมด้านบุคลากร เพราะการตรวจสอบหลายเรื่องใน กทม.ต้องใช้เทคนิคสูง จากการประชุมพบว่า สำนักงานตรวจสอบภายในยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอ กทม.จึงต้องหาทางเพิ่มบุคลากร 3.ฝ่ายรับตรวจต้องมีความเข้าใจเรื่องระบบบัญชี ขณะเดียวกัน กทม.ต้องอบรมให้ความรู้ผู้ถูกตรวจสอบให้เข้าใจการลงบัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 4.เน้นประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การตอบสนองต่อความต้องการประชาชน อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางต้องสนับสนุนบุคลากรและเทคโนโลยีเพิ่มเติมด้วย เชื่อว่า ประชาชนให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพการให้บริการอย่างยิ่ง ต้องสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าบุคลากร กทม.กว่า 8 หมื่นคน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า บุคลากรภายในสำนักงานตรวจสอบภายในจำนวน 60 คน ยังขาดอีก 8 อัตรา ถือว่าไม่เพียงพอต่อภาระหน้าที่ ต้องดำเนินการพิจารณาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม บางส่วนอาจต้องจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยด้านเทคนิคเฉพาะต่าง ๆ เช่น การตรวจโรงบำบัดน้ำเสีย จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการ รวมถึง เร่งบรรจุอัตราที่ยังขาดอยู่ สิ่งสำคัญคือ ในอนาคตต้องอาศัยเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การบันทึกข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล เพื่อการตรวจสอบโดยง่าย หรือการใช้เทคโนโลยี (AI) ตรวจสอบเนื้อหาในเอกสารต่าง ๆ ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่มากขึ้น

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นต้องเพิ่มเทคโนโลยีมากกว่ากำลังคน เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรับตรวจต้องบันทึกข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลและนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่ไปด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ตรวจ สามารถดูตัวอย่างผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งสะท้อนการทำงานผ่านเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกทม. กล่าวเสริมว่า การตรวจสอบภายในไม่ใช่การจับผิด เป็นการตรวจเพื่อให้คำแนะนำและเชิงป้องกัน ดังนั้น ความร่วมมือในการดำเนินการทั้งผู้รับตรวจและผู้ตรวจ ต้องเป็นความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น อะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทางหน่วยตรวจก็จะแจ้งไปตามลำดับขั้น หน่วยรับตรวจก็จะต้องไปศึกษาแล้วดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า แล้วก็สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง.
