เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2564 ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้กำหนดประเด็นหลัก เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้ในการร่วมรณรงค์ และเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2564 ชูแนวคิดหลักคือ “Literacy for a Human-Centred Recovery : Narrowing the Digital Divide” หรือ “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” ซึ่งยูเนสโก กำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” (International Literacy Day) ตามมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลก และกว่า 50 ปี ประเทศไทยในฐานะประทศสมาชิก ได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยรู้หนังสือมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ จัดการศึกษานอกระบบให้แก่ผู้ใหญ่ ดูแลผู้ที่ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสในการที่จะเข้าถึงการศึกษา ซึ่งในปี 2564 จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของผู้คนในทุกด้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ รวมถึงประเทศไทยด้วย

รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า วิกฤติการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้วิถีชีวิตของประชากรโลก รวมถึงชาวไทยเปลี่ยนแปลงไปแบบเฉียบพลัน ทักษะสำหรับการเรียนรู้ที่จะอยู่รอด และอยู่ร่วมในสังคมโลกยุคนี้ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยจึงเป็นความท้าทายของนักจัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยเฉพาะด้านการศึกษา ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ หรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ที่เรียกว่า “Digital Divide” ที่เกิดช่องว่างมากขึ้นระหว่างประชาชนกลุ่มที่มีความพร้อมและกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ ในมิติของโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่วางอยู่บนพื้นฐานของการอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น หรือ “การรู้หนังสือ” และ “การพึ่งพาตนเองได้” ย่อมไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป รัฐบาลโดยหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องจึงได้พยายามมองหาโอกาสในวิกฤติเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้น โดยอาศัยการรู้หนังสือที่มีเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตเพื่อการอยู่รอดตามแนววิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และการเรียนรู้ที่มองไปข้างหน้าหลังสิ้นสุดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งในการจัดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2564 ครั้งนี้

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการรณรงค์และเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2564 กับประเทศสมาชิกทั่วโลก ภายใต้ประเด็นหลักที่องค์การยูเนสโกกำหนด “Literacy for a Human-Centred Recovery : Narrowing the Digital Divide” หรือ “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings เพื่อนำพาสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสานสนเทศและความรู้ และร่วมกันสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้นต่อไป นอกจากนี้ในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว สำนักงาน กศน.ยังได้จัดการปาฐกถาพิเศษ เนื่องใน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2564 โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกาด้านการศึกษา และการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การส่งเสริมการรู้หนังสือในวิถีชีวิตใหม่ New Normal โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ร่วมเสวนาผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings ในโอกาสนี้ด้วย