เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ได้รับผิดชอบ ในรอบที่ 2 ของปีงบประมาณ 2566 โดยได้ตรวจติดตามสถานศึกษาทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ซึ่งพบว่านโยบายในเรื่องของการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา และใช้ในการจัดการเรียนการสอนนั้น สถานศึกษาต่างตื่นตัวนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานกันเป็นอย่างมาก แตกต่างจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ครูมีการปรับตัว พัฒนาตัวเองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกลุ่มครูที่มีอายุเยอะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานศึกษาเข้าถึงระบบไวไฟได้อย่างทั่วถึง แต่ก็ยังได้รับเสียงสะท้อนจากสถานศึกษาบางแห่ง ที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือมือถือที่สามารถสืบค้นข้อมูล หรือใช้ในการเรียนการสอน เพราะนักเรียนบางคนยังเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุน ก็เชื่อว่าการพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่าง ๆ จะยิ่งเห็นผลมากขึ้น
หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวต่อไปว่า ตนยังได้กำชับสถานศึกษาด้วยว่า สิ่งที่สถานศึกษาต้องทำให้ได้ก็คือ ในระดับเด็กอนุบาล- ประถมศึกษาปีที่ 1 ควรต้องสอนภาษาไทยให้เด็กอ่านออกเขียนได้ สอนภาษาที่สองภาษาอังกฤษ หรือภาษาสากลให้กับนักเรียน รวมไปถึงภาษาคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้ง ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนในยุคปัจจุบันด้วย เรื่องนี้จะเป็นต้นทางของการพัฒนาให้นักเรียนสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และพัฒนาไปสู่ระบบเอไอได้ในอนาคต นอกจากนี้สิ่งที่ตนรู้สึกกังวลมากหลังจากการตรวจราชการในพื้นที่รอบที่ 2 นี้ คือ การพบเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบาง ที่พ่อแม่หย่าร้าง และเลิกรากันไปมีครอบครัวใหม่ ส่วนเด็กกลุ่มนี้จะถูกส่งไปให้ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนเลี้ยงดู พ่อ แม่ก็ไม่ค่อยให้ความสนใจดูแลเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว มักจะตามตัวกลับมาเรียนได้ลำบากมาก ส่วนใหญ่จะไม่เรียนหนังสือต่อ ดังนั้นตนจึงได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในการลงไปตรวจราชการยังสถานศึกษาต่าง ๆ ขอให้ติดตามและกำชับเรื่องนี้กับสถานศึกษาให้มาก อย่าให้สถานศึกษาปล่อยผ่านอย่างเด็ดขาด ต้องหาทางช่วยเหลือเด็กให้เขาได้กลับมาเรียนให้ได้ หากเด็กไม่กลับมาเรียนในระบบก็อาจจะส่งต่อข้อมูลให้กับสถานศึกษาของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้เข้าไปติดตามให้เด็กได้เรียนนอกระบบโรงเรียนก็ได้ ไม่เช่นนั้นเด็กจะถูกทิ้งให้กลายเป็นปัญหาสังคมตามมาในที่สุด