สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า นอกจากเนื้อสุนัขกับเนื้อแมว เนื้อสัตว์อื่น ๆ อาทิ ค้างคาว, หนู, งู และลิง ก็มีวางจำหน่ายในตลาด “โตโมฮน เอกซ์ตรีม มาร์เกต” บนเกาะสุลาเวสี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารที่สร้างความไม่สบายใจ จนกระทั่งมีคำสั่งห้ามขาย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ฮิวเมน โซไซตี อินเทอร์เนชั่นแนล (เอชเอสไอ) ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิสัตว์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดแห่งแรกในอินโดนีเซียที่ยอมถอย และหยุดค้าขายเนื้อสุนัขกับเนื้อแมว นับเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะทำให้สัตว์หลายพันตัวรอดพ้นจากการทุบตีและเผาจนตาย เพื่อให้มนุษย์บริโภค จากเดิมที่พวกมันถูกฆ่ามากถึง 130,000 ตัวต่อปี

ผู้ค้าเนื้อสุนัขและเนื้อแมวที่เหลืออยู่ 6 รายในตลาด ลงนามในข้อตกลงเพื่อยุติการจำหน่าย โดยนายกเทศมนตรีเมืองโตโมฮน ก็ลงนามในกฎหมายห้ามการค้าขายเนื้อสัตว์ดังกล่าวในอนาคต ที่ตลาดแห่งนี้เช่นกัน
“ผลกระทบจะขยายวงกว้าง และปิดธุรกิจสำหรับเครือข่ายขนาดใหญ่ของผู้ค้า ที่มีทั้งผู้ลักลอบค้าสัตว์, ผู้ขโมยสุนัข และผู้ฆ่าสัตว์ ซึ่งพวกเราหวังว่า ข้อตกลงที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน” นางโลลา เว็บเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการรณรงค์เพื่อยุติการค้าเนื้อสุนัข จากเอชเอสไอ กล่าว
อนึ่ง ตลาดแห่งนี้ถูกกลุ่มนักเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ฆ่าสัตว์ เช่น การทุบตี, การแขวนคอ และการเผาขนสัตว์ทั้งที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่ โดยการเรียกร้องดังกล่าวเพิ่มขึ้น หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 คลัสเตอร์แรกเมื่อปี 2563 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตลาดสดในเมืองอู่ฮั่นของจีน จนทำให้เกิดความกลัวในที่แห่งอื่นว่า เชื้อไวรัสอาจแพร่จากสัตว์สู่คนได้.
เครดิตภาพ : AFP