สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ว่า องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) ออกแถลงการณ์ว่า จันทรายาน-3 เริ่มภารกิจสำรวจขั่วใต้ของดวงจันทร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยยานสำรวจจะใช้เวลานานประมาณ 2 สัปดาห์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นผิวและบรรยากาศบนดวงจันทร์ แล้วส่งกลับมายังศูนย์ปฏิบัติการบนโลก เพื่อการวิเคราะห์และศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับองค์ประกอบของแร่ธาตุ
… … and here is how the Chandrayaan-3 Rover ramped down from the Lander to the Lunar surface. pic.twitter.com/nEU8s1At0W
— ISRO (@isro) August 25, 2023
นอกจากนี้ ไอเอสอาร์โอเผยแพร่ภาพและคลิป ช่วงเวลาที่จันทรายาน-3 เคลื่อนตัวออกจาก “วิกรม” ซึ่งเป็นยานลงจอด แล้วเคลื่อนตัวต่อไปบนพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วย โดยจันทรายาน-3 ลงจอดใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังสามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยานเดินทางออกไปจากโลก เมื่อวันที่ 14 ก.ค.
ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่ 4 ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งประสบความสำเร็จ ในการส่งยานสำรวจลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ ต่อจากสหรัฐ สหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน และจีน แต่เป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งสามารถส่งยานสำรวจลงจอด บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
India becomes the fourth nation ever to land a spacecraft on the moon. The successful attempt comes days after Russia's failed lunar mission. https://t.co/BmUYmRAuAi pic.twitter.com/uZ6rUZhT6h
— CNN (@CNN) August 23, 2023
แม้การเดินทางสู่ดวงจันทร์ของอินเดียใช้เวลานานกว่าอีก 3 ประเทศมาก แต่การสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียเรียกได้ว่าเป็น “โครงการราคาประหยัด” เนื่องจากงบประมาณสำหรับโครงการสำรวจจันทรยาน-3 อยู่ที่ประมาณ 74.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,622.94 ล้านบาท)
อนึ่ง อินเดียเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรก เมื่อปี 2551 ด้วยการส่งยานจันทรายาน-1 ซึ่งสามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีนั้น ตามด้วยภารกิจจันทรายาน-2 เมื่อปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยานสำรวจเกิดขาดการติดต่อในช่วงนาทีลงจอด และมีการยืนยันในเวลาต่อมาว่า ยานตกกระแทกกับพื้นผิวดวงจันทร์.
เครดิตภาพ : Indian Space Research Organisation (ISRO)