เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของกองทุนบัตรทองเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ว่า ก่อนหน้านี้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมการไว้หลายเดือนแล้ว โดยดูจากนโยบายพรรคการเมืองที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นรัฐบาล มีประมาณ 37 นโยบายที่ดูไว้ เช่น เรื่องการยกระดับบัตรทอง ที่จะมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล เช่น นัดหมาย เทเลเมดิซีน เท่าที่ดูทุกพรรคการเมืองมีตรงนี้หมด จึงคิดว่าน่าจะทำได้ ทาง สปสช. ก็ได้เตรียมของบประมาณเพิ่มเติม หรือกลวิธีต่างๆ ทั้งข้อบังคับระเบียบต่างๆ แต่ก็ต้องรอความชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นใคร โดยงบฯ ที่จะนำมาใช้สำหรับนโยบายใหม่ๆ นั้น ต้องมีการตั้งของบฯ เท่าที่คำนวณวงเงินงบฯ ไว้ ไม่เกินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท จากทุกๆ นโยบาย ประมาณ 37 นโยบาย ที่เราดูไว้ แต่ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะเอานโยบายไหนบ้าง

เมื่อถามว่าได้เสนองบฯ ขาขึ้น ปีงบ 2567 แล้วใช่หรือไม่ ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับนโยบายใหม่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ได้เสนอ ครม. ไปแล้ว ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ไม่รวมเงินเดือนบุคลากร เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3,800 ล้านบาท แต่ยังไม่เคยเข้าสภา เพราะยังไม่มีรัฐบาล ซึ่งสำนักงบประมาณเคยแนะนำตอนที่ประชุมบอร์ด สปสช. ว่า ให้สำนักงานฯ เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ เพราะการจัดตั้งงบฯ มีการล่าช้า ก็อาจจะต้องขยายเวลาในการเสนอ ดังนั้น เมื่อมีความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ และนโยบายใหม่ สปสช. ก็จะเสนองบฯ เข้าไปเพิ่มเติม แล้วจัดสรรเป็นงบขาลงมาพร้อมกัน

เมื่อถามว่า หากงบขาขึ้นขาลงยังไม่มีความชัดเจนในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะกระทบต่อการดูแลประชาชนและหน่วยบริการหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำนักงบฯ ส่งสัญญาณแล้วว่า จะมีการใช้งบฯ เหมือนเดิมไปพลางๆ ก่อน ความหมายคือกิจกรรมที่คิดว่าเป็นกิจกรรมพื้นฐานต้องดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นวันที่ 1 ต.ค. ก็ยังทำงานได้เหมือนเดิม มีเพียงนโยบายใหม่เท่านั้น ที่ต้องมาดู และเสนอบอร์ด สปสช. เมื่อมีรัฐมนตรีใหม่ ว่า นโยบายเดิมที่ทำอยู่มีอะไรอยากให้คำแนะนำ หรือปรับเปลี่ยนหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ไม่มากนัก เพราะเมื่อให้สิทธิประชาชนแล้ว จากประสบการณ์คือนโยบายส่วนใหญ่ มักไม่ได้มีการตัดทอน แต่จะมีการเพิ่มสิ่งใหม่.