สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า กระทรวงการต่างประเทศอินเดียออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการประท้วงอย่างจริงจังผ่านช่องทางการทูตไปยังจีน เกี่ยวกับ “สิ่งที่เรียกว่าแผนที่มาตรฐาน” ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งอ้างพื้นที่บางส่วนของอินเดีย ว่าเป็นดินแดนของตัวเอง และแผนที่ดังกล่าวปรากฏบนหนังสือพิมพ์ “โกลบอล ไทม์ส” สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน


ขณะที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย พบหารือกันนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำ “บริกส์” ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศกล่าวถึง การยกระดับความร่วมมือ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของข้อพิพาทเรื่องดินแดนด้วย


ย้อนกลับไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อินเดียประท้วงจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง จากกรณีรัฐบาลปักกิ่ง เปลี่ยนชื่อสถานที่ 11 แห่ง รวมถึงภูเขา 5 ลูก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนของเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กับเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน โดยอินเดียกล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลปักกิ่งดำเนินการตามอำเภอใจ และรัฐบาลนิวเดลี ไม่มีทางยอมรับอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งย้ำว่า รัฐอรุณาจัลประเทศเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย


ทั้งนี้ กระทรวงกิจการพลเรือนจัดทำแผนที่ ระบุ “ชื่อใหม่” ของสถานที่ 11 แห่ง ว่า อยู่ภายในอาณาเขตของ “จางหนาน” หรือภูมิภาคทิเบตใต้ โดยกำหนดเขตแดนส่วนนี้เพียงว่า จีนมีพรมแดนติดกับอินเดียเฉพาะทางเหนือของแม่น้ำพรหมบุตรเท่านั้น หมายความว่า แผนที่ดังกล่าวรวมรัฐอรุณาจัลประเทศเข้าไปด้วย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคทิเบตใต้


อนึ่ง อินเดียกล่าวว่า การที่จีนยึดครองพื้นที่ 38,000 ตารางกิโลเมตรในเขตอักไสชิน ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของเขตลาดักห์ ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย แต่การที่รัฐบาลนิวเดลีประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของภูมิภาคแคชเมียร์ เมื่อเดือน ส.ค. 2562 และนำไปสู่การจัดตั้งเขตลาดักห์ เป็น “เขตปกครองพิเศษ” เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากรัฐบาลปักกิ่ง.

เครดิตภาพ : AFP