น.ส.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมในอนาคตจะมีการ เปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อทั้งระบบ รวมถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย จึงได้วางนโยบาย ด้านกิจการ โทร์ทัศน์ไวั 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สู่การกำหนดแนวทาง ทีวีดิจิทัลหลังปี 72 โดยมีแผนจะทำ เนชั่นแนล โอทีที แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวมวีดีโอ สตรีมมิ่ง ซึ่งได้มีการหารือเบื้องต้นกับทางผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และสมาคมโฆษณา ก็เห็นด้วย โดยจะมีการรวมคอนเทนต์ต่างๆ ง่ายต่อการดูแล และจะมีข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อใช้วางแผนในการซื้อโฆษณาได้
ส่วนนโยบาย 2 คือ การกำกับผู้ให้บริการเนื้อหารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่าน โครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ โอทีที ซึ่งอยู่ในช่วงดำเนินการ นำโอทีทีเข้าสู่ระบบกำกับดูแล โดยมีการทำงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(เอ็ตด้า) ซึ่งแนวทางจะเป็นการกำกับดูแลแบบหลอมรวม เน้นเรื่องเนื้อหา คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผู้บริโภค รวมถึงศึกษาเรื่องการออกใบอนุญาตมีความจำเป็นหรือไม่
น.ส.พิรงรอง กล่าวต่อว่า นโยบายที่ 3 การส่งเสริมคอนเทนต์คุณภาพและหลากหลายสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยได้ออกประกาศฯตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ โดยจะใช้งบของกองทุน กทปส.มาสนับสนุน ผู้ประกอบการผลิตเนื้อหา เพื่อพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย ไปสู่ตลาดโลก นโยบายที่ 4 การกำกับเนื้อหาและ ส่งเสริมรายการคุณภาพ โดยนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มา มอนิเตอร์ และตั้งคณะกรรมมาในการตรวจสอบ และประเมินคุณภาพรายการ รวมถึงการให้เรตติ้งสกอร์ กับผู้ประกอบการเพื่อมาลดค่าธรรมเนียมต่างๆ และนโยบายที่ 5 ดำเนินการส่งเสริมสื่อท้องถิ่นและชุมชน ในการผลิตสื่อในภูมิภาค และ สถาบันการศึกษาต่างๆ และทำโครงการสื่อท้องถิ่น ด้วยงบยูโซ่ รวมถึงผลักดันให้เกิดโทรทัศน์ชุมชนในแพลตฟอร์มต่างๆ
“เมื่อถึงปี 72 ใบอนุญาตหมดอายุลง การประมูลทีวีดิจิทัลอาจจะไม่มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วม เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ มีช่องทางออนไลน์ที่ออกอากาศคู่ขนานอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน การให้บริการโอทีที กำลังเข้ามาได้รับความนิยมมากขึ้น คนดูทีวีน้อยลง จึงต้องมีช่องทางให้ผู้ประกอบการ ทีวีอยู่ได้ และแผนรองรับอุตสาหกรรมทีวีในอนาคต” น.ส.พิรงรอง กล่าว