เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมเซาเทิร์นลันตา รีสอร์ท อำเภอเกาะลันตา ดร.วรรณดี เกตแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เป็นประธานการประชุม “การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” ระยะที่ 2 ซึ่งศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดการประชุม เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา (ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีนและกลุ่มอูรักลาโวยจ) ได้เรียนรู้ผ่านต้นทุนทางภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง โดยปรับประยุกต์หรือบูรณาการระหว่างความรู้ในห้องเรียนผสมผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยใช้แนวทางการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-อูรักลาโวยจ) สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนชาวเลอูรักลาโวยจ และส่งเสริมให้นักเรียนอีกหลายกลุ่มวัฒนธรรมได้ใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมถึงการเคารพ ให้เกียรติและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมต่อผู้อื่นที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป โดยมี ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ ม.มหิดล และหัวหน้าโครงการ “การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” กล่าววัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล๊อตซี่ (PCF) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินงานในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565 และเข้าสู่การดำเนินงานระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2568
ดร.มิรินด้า กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการในระยะแรกได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้บริหาร ครู ปราชญ์ท้องถิ่น และชุมชนโดยรอบโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 14 แห่ง จนนำมาสู่ผลสำเร็จทั้งในด้านพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ แผนการเรียนการสอน ผลพัฒนาการของผู้เรียน รวมถึงการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในเกาะลันตาและความพึงพอใจของคนในชุมชน รวมไปถึงการเผยแพร่ผลงานและชื่อเสียงของเกาะลันตา จนได้รับการขอศึกษาดูงานจากต่างประเทศ และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบสารคดีในรายการโทรทัศน์ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คุณชัชวาล วิภวชาติ รองศึกษาธิการจังหวัดกระบี่, คุณปัตติกาญจน์ บรรดาศักดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จังหวัดกระบี่, คุณนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา, รวมทั้ง คณะผู้บริหารท้องถิ่นในส่วนเทศบาล ตำบลและหมู่บ้าน, คณะผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรครูทั้งในกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา กลุ่มศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเกาะลันตา, นายกสมาคมการท่องเที่ยว, ผู้นำศาสนา, ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้แทนชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆ คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี)