สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า ยูเอ็นระบุในรายงานว่า เหยื่อจำนวนมากถูกค้าให้ไปทำงานที่เป็นอาชญากรรมออนไลน์ และเผชิญกับการละเมิดอย่างร้ายแรง เช่น การทรมาน หรือความรุนแรงทางเพศ

“ผู้คนที่ถูกขู่เข็ญให้ทำงานในการดำเนินงานหลอกลวงเหล่านี้ ต้องทนต่อการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม และถูกบังคับให้ก่ออาชญากรรม” นายโฟลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น กล่าว “พวกเขาคือเหยื่อ พวกเขาไม่ใช่อาชญากร”

รายงานชี้ให้เห็นว่า ขนาดของขบวนการดังกล่าวนั้นยากที่จะวัดได้ เนื่องจากแก๊งอาชญากรรมดำเนินการอย่างลับ ๆ และมีช่องว่างในการตอบสนองของทางการ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่า ประชาชนอย่างน้อย 120,000 คน ทั่วเมียนมา อาจถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาโดนบังคับให้ทำการหลอกลวงทางออนไลน์

อนึ่ง ลาว, ฟิลิปปินส์ และไทย อยู่ในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการระบุว่าเป็น ประเทศปลายทาง หรือประเทศทางผ่านหลักของการค้ามนุษย์ ส่วนกลุ่มผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมาจากหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน), จีนแผ่นดินใหญ่, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เอเชียใต้ ตลอดจนแอฟริกา และลาตินอเมริกาที่อยู่ไกลออกไป

รายงานของยูเอ็น ระบุเพิ่มเติมว่า ศูนย์หลอกลวงเหล่านี้สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการปิดพรมแดนและธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมากตกงาน รวมถึงการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้คนใช้เวลาในโลกออนไลน์มากขึ้น และเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมาย ของการฉ้อโกงทางออนไลน์.

เครดิตภาพ : AFP