เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กระบุว่า..

โควิด 19 วัคซีน
ยงภู่วรวรรณ 15 กันยายน 2564
หนึ่งในหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนการสอน งานบริการแล้ว จะต้องทำงานวิจัยให้เกิดองค์ความรู้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ
การศึกษาวิจัยเรื่อง covid-19 จึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในภาวะวิกฤต
การติดเชื้อแล้วกระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ต้องเรียนรู้ และต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ ในการดูแลประชาชน

ตอบคำถาม “วาทกรรม” หมอธีระ วรธนารัตน์

1 ตกลงฉีด 2 เข็มนั้นไปทำไม
วัคซีนทุกชนิดลดการป่วยตาย และความรุนแรงของโรคได้ การให้วัคซีน 2 เข็มในประเทศไทย ลดความรุนแรง การป่วยตาย โปรดศึกษาการติดเชื้อของทั่วโลก เช่น อเมริกา อิสราเอล ฉีดวัคซีนครอบคลุม ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แบบสมบูรณ์

2 หาตัวที่ฉีด 1-2 เข็ม แล้วลดโอกาสติดเชื้อได้ ลดป่วยลดตายได้ จะดีกว่าไหม
วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ สามารถลดการติดเชื้อ ลดป่วย ลดตาย ภูมิต้านทานจะลดลงตามกาลเวลา ไม่ว่าวัคซีนตัวไหน ลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สมบูรณ์
โรค covid 19 ระยะฟักตัวสั้น ดังนั้นการลดโอกาสติดเชื้อ จึงเป็นไปได้ยาก แต่สามารถลดการตาย และอาการหนักได้

3 ถ้าฉีดแล้วติดเชื้อคนติดเชื้อคงไม่หวังอยากได้ภูมิสูงปรี๊ดหรอก แต่คนติดเชื้อคงอยากรู้ว่าเขาป่วยแค่ไหน จะตายหรือไม่ตายต่างหาก และหากเลือกได้เขาคงไม่อยากติดเชื้ออย่างแน่นอน
แน่นอนคงไม่มีใครอยากติดเชื้อ ทุกคนจึงมีความต้องการวัคซีน การฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อ มากกว่าที่จะหวังผลจากวัคซีนไม่ให้ติดเชื้อ
การศึกษาผลของภูมิต้านทานหลังการติดเชื้อ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และความจำเป็นในการให้วัคซีนหลังการติดเชื้อ

การตอบสนองภูมิต้านทานและการคงอยู่ของภูมิต้านทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
โรคอุบัติใหม่จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดด้วยงานวิจัย

การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ การสร้างความสับสนให้กับประชาชน ควรบอกสิ่งที่มีประโยชน์และแนวปฏิบัติตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอย่างถูกต้อง ทันกับเหตุการณ์