ผมจึงเดินต่อไปนอกวัด เดินไปรอบ ๆ ชุมชน พบว่าถนนสะอาดเรียบร้อยเหมือนชุมชนช่วยกันดูแลอย่างดี และเมื่อมองไปซ้ายขวาก็ไม่เห็นถังขยะอีกเช่นเคย จนผมสงสัยว่าแล้วขยะหายไปไหน? แต่ทันใดนั้นก็เหลือบไปเห็นเด็กสองสามคนกำลังถือถุงอะไรสักอย่าง ผมจึงแอบเดินตามไปเงียบ ๆ จนไปถึงโรงเรือนเล็ก ๆ ที่มีชาวบ้านที่มีทั้งเด็กและผู้สูงวัยกำลังง่วนอยู่กับการคัดแยกขยะและแปรรูปของเหลือทิ้ง เพื่อนำมาทำเป็นวัสดุใหม่

ผมจึงคิดในใจว่านี่มัน “Circular Economy” หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ชัด ๆ และในขณะที่กำลังยืนคิดเรื่องนี้ ก็พอดีกับที่มีคุณป้าหยิบไม้กวาดขึ้นมาและยื่นมาให้ผม พร้อมกับบอกผมว่า ไม้กวาดนี้ทำมาจากขวดพลาสติกที่ถูกทิ้ง ซึ่งผมสังเกตเห็นว่ามีการนำฝาจุกขวดรุ่นที่มีหูหิ้ว นำมาดัดแปลงใหม่เพื่อให้ใช้แขวนผนังได้ นอกจากนี้ คุณป้าคนเดิมยังชี้ให้ดูเด็ก ๆ ที่กำลังกวาดลานวัด พร้อมบอกว่าเด็ก ๆ ของเรากวาดลานวัดและชุมชนทุกวัน จึงทำให้ชุมชนของเราสะอาด ซึ่งผมก็ลองกวาดดูบ้าง ปรากฏว่าไม้กวาดที่ทำขึ้นมาจากขวดพลาสติกที่ถูกทิ้ง มันใช้งานได้ดีมาก ผมจึงถามคุณป้าว่ามันทนทานไหม? ซึ่งเธอตอบว่า คุณตายไปแล้วเกิดใหม่ ไม้กวาดนี้ยังอยู่เลย เพราะพลาสติกทนทานได้นานมากกว่า 400 ปี โดยคุณป้ายังบอกอีกว่า นอกจากไม้กวาดนี้แล้ว ก็ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ชุมชนออกแบบเองอีกมากมาย ซึ่งล้วนทำมาจากสิ่งของเหลือทิ้งทั้งสิ้น
หลังจากคุณป้าบอกเรื่องนี้ คุณป้าก็ได้พาผมไปพบกับลูกสาวของคุณป้า นั่นคือ “พี่หนู-สุจิตรา ป้านวัน” รองปลัด อบต.ของที่นี่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ โดยพี่หนูเล่าว่า เริ่มแรกชุมชนมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ขยะ ความยากจน ปัญหาเยาวชนและยาเสพติด เธอจึงใช้เวลานอกราชการมาเยี่ยมเยียนบ้านต่าง ๆ เพื่อชวนเด็ก ๆ มาช่วยกันคัดแยกขยะสร้างรายได้ โดยกิจกรรมนี้เริ่มต้นจาก “กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่ง” เพื่อแก้ปัญหาเยาวชนกับยาเสพติดใช้ชีวิตผิดทางมาสร้างรายได้ให้มีเงินออม ต่อมากิจกรรมนี้ได้เชื่อมโยงคน 2 วัย คือเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยการมาใช้เวลาว่างสร้างรายได้ไปด้วยกัน

โดยมีการแยกขยะ 4 ชนิด คือ 1.ขยะอินทรีย์จากเศษอาหาร ที่รวบรวมไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย 2.ขยะรีไซเคิลที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ โดยมีพี่ ๆ จากโครงการพลังชุมชนมาช่วยแนะนำ 3.ขยะมีพิษและขยะอันตราย ที่จะแยกแล้วรวบรวมไปให้ อบจ.กำจัดตามมาตรฐานความปลอดภัย 4.ขยะอื่น ๆ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้
ซึ่งก็จะมาแยกให้ละเอียด เพื่อนำไปขายให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ SCG นำไปเผาเป็นพลังงานทดแทนถ่านหิน ที่เป็นความร่วมมือกับโรงปูนเพื่อลดขยะในชุมชนและสร้างรายได้ ทั้งช่วยโลกลดคาร์บอนซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์หลายต่อ นอกจากนี้ โรงงาน SCG ยังมีการลงทุนระบบเชื้อเพลิงใหม่ ที่เรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) โดยเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย ESG4Plus ที่ต้องหานวัตกรรมลดคาร์บอนอย่างเร่งด่วน

ซึ่งขณะนี้โรงงานดำเนินการแล้ว ทั้งพลังงานจากขยะ RDF พลังงานจากเศษพืชการเกษตร Biomass และพลังงานแสงอาทิตย์จาก Solar Farm ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก โดยได้พัฒนาพลังงานทางเลือกไปแล้วกว่า 50% ซึ่งความสำเร็จของ “ชุมชน Like (ไร้) ขยะ” นี้ เกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีผู้นำชุมชนที่เสียสละ มีความร่วมมือของคนในชุมชน มีผู้ที่มีความรู้ เช่น “พลังชุมชน” มาช่วยฝึกอบรมเพิ่มพูนประสบการณ์ และมีภาคธุรกิจอย่าง “SCG” มาช่วยสนับสนุน จนขยะแทบจะหมดไปจากชุมชน จนไม่เห็นถังขยะสักใบ เพราะขยะกลายเป็นพลังงานทางเลือกของโรงงาน และกลายเป็นแหล่งรายได้ให้กับทุก ๆ คนในชุมชน ซึ่งเรื่องของการเป็นชุมชน Like (ไร้) ขยะเป็นจริงได้แล้วที่นี่ และถ้าหากที่นี่ทำได้ พื้นที่อื่น ๆ ก็น่าจะทำได้เช่นกัน.
