เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต เปิดเผยว่า รพ.วชิระภูเก็ต ประสบความสำเร็จในการทำวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วย วัคซีนแอสตราเซเนกา แบบฉีดเข้าผิวหนังโดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 20% ในการวิจัยนี้ได้มีอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-60 ปี 242 คน ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวค แล้ว 2 เข็ม เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีดแบบทั่วไป (แบบเข้ากล้ามเนื้อ) 120 คน โดยได้รับวัคซีน 0.5 ml และกลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดแบบใต้ผิวหนัง 122 คน โดยได้รับวัคซีน 0.1 ml หรือ 1 ใน 5 ของการฉีดแบบทั่วไป 

ผลการทดลองพบว่าภูมิต้านทานของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปเล็กน้อย โดยผู้ที่รับการวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,662.3 AU/ml และ ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,214.1 AU/ml โดยผู้รับวัคซีนทั้งสองกลุ่มมีค่าภูมิคุ้มเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (840 AU/ml)  ซึ่งผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีน้อยกว่าการฉีดแบบทั่วไป เช่น มีไข้ หรือปวดศีรษะเพียง 70 ราย เมื่อเทียบกับ การฉีดแบบทั่วไป 98 ราย แต่การฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังจะมีผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีด เช่น ระคายเคือง และบวมแดงมากกว่าแต่ไม่เป็นที่น่าวิตกกังวล
           

“ทาง รพ.วชิระภูเก็ต นำโดย พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร และ พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม ริเริ่มงานวิจัยนี้เพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารวัคซีนของจังหวัดภูเก็ต และน่าเป็นทางเลือกของประเทศไทยในการใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ที่ใช้ปริมาณน้อยลงถึง 5 เท่า ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการใช้วัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชน” นพ.เฉลิมพงษ์ ระบุ
           

สำหรับ จ.ภูเก็ต จะนำร่องในการฉีดวัคซีนแอสตราฯ แบบใต้ผิวหนังให้กับชาวภูเก็ต 200,000 คน ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ชนิดซิโนแวค ไปก่อนหน้านี้ การกลับไปสู่วิถีชีวิตปกติความจำเป็นของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และในภาวะที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด การใช้เทคนิคการฉีดแบบใต้ผิวหนังจะใช้วัคซีนที่น้อยกว่า ทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก และน่าจะเป็นวิธีการสำคัญในการแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนของมนุษยชาติที่จะรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอีกด้วย