เมื่อโลกต้องการความยั่งยืน “อะลูมิเนียม” จะเป็นแพ็กเกจจิงที่สมาร์ต (SMART) ที่สุดนับจากนี้เป็นต้นไป เพราะรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์
ธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ส.อ.ท.) ชวนไปเปิดโลกกับอะลูมิเนียมว่าอนาคตจะเป็นวัสดุที่ยั่งยืนอย่างไรกับโลกใบนี้

เงินหมุนเวียนอะลูมิเนียมรีไซเคิล 1.5 พันล้าน
“กระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วในประเทศไทย ถูกนำกลับมารีไซเคิลคิดเป็นเงินแล้วมูลค่า 1,500 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้ให้กับคนรายได้น้อย”
คุณสมบัติอันประเสริฐของอะลูมิเนียมคือรีไซเคิลได้ไม่จำกัด เพราะอะลูมิเนียมเมื่อโยนเข้าเตาเผา จะหลอมกลายเป็นเม็ดแล้วนำไปตีเป็นแผ่นขึ้นรูปเป็น อะลูมิเนียมดังเดิม และเป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ ทำให้เราไม่ต้องไปขุดแร่เพิ่ม ซึ่งขบวนการขุดแร่ต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล
ธีรพันธุ์ ชี้ให้เห็นข้อดีของอะลูมิเนียมว่า เมื่อนำกระป๋องเครื่องดื่มมารีไซเคิล ต้นทุนในกระบวนการจะไม่เพิ่ม เพราะกระป๋องจะมีอัลลอย มีเลขกำกับ เช่นซีรีส์ 5,000 ซีรีส์ 3,000 แต่ถ้านำกระป๋องไปทำชิ้นส่วนรถยนต์ จะต้องเพิ่มอัลลอยบางตัวเข้าไป ยิ่งทำเหมือนเดิม ยิ่งลดต้นทุน ส.อ.ท. กำลังรณรงค์เรื่อง 3 C can to can คือเอากระป๋องมาทำกระป๋อง car to car ชิ้นส่วนในรถยนต์กลับมาหลอมเป็นชิ้นส่วนเดิม และ con to con คือคอนสตรัคชัน (construction) อะลูมิเนียมในการก่อสร้าง ประเภทขอบประตูหน้าต่าง
เปรียบเทียบว่าอะลูมิเนียมกับขวดแก้ว การใช้พลังงานมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การผลิตแก้วจุดหลอมเหลวของแร่ซิลิกา (Silica)จนเป็นแก้วใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 2,000 องศาเซลเซียส อะลูมิเนียมใช้อุณหภูมิ 670 องศาฯ ขณะที่นำอะลูมิเนียมใช้แล้ว เข้าสู่เตาหลอมใช้อุณหภูมิเพียง 200 องศาฯเท่านั้น แต่ข้อดีของขวดแก้วนำเอามาทำความสะอาดแล้วใช้ใหม่ได้ (ตกค้างในระบบ
30-40 เปอร์เซ็นต์เพราะมีการแตกหัก) แต่ถ้าเทียบเรื่องขนส่งมีข้อเสียขวดแก้วหนักใช้พลังงานมากกว่า และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บ

ไทยผลิตกระป๋อง 6.5 พันล้านกระป๋อง
ปฐมบทของการนำอะลูมิเนียมมาใช้นี้เกิดขึ้นมาแล้ว 80 ปี และยังวนเวียนรีไซเคิลซํ้าแล้วซํ้าเล่า คิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ 75% ไทยมีกำลังการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมประมาณ 6,500 ล้านกระป๋อง จำหน่ายในประเทศประมาณ 3,500 ล้านกระป๋องที่เหลือส่งออก
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ส.อ.ท.) อธิบายถึงขั้นตอนของการได้มาซึ่งอะลูมิเนียมว่า ต้องเริ่มจากการถลุงบอกไซต์ (Bauxite)แล้วมาผ่านกระบวนการสกัด จนได้ อะลูมินา (Alumina) โดยบอกไซต์ 4 ตัน จะได้อะลูมินา 2 ตัน จากนั้นทำให้เป็น “อะลูมิเนียมบริสุทธิ์” จะเหลือเพียง 1 ตัน ประเทศไทยใช้เพียงขั้นตอนนำเข้าอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ มาจากออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ในปริมาณ 3-4 แสนตันต่อปี ซึ่งมีโรงงานที่ขึ้นรูปและรีไซเคิลอะลูมิเนียมอย่างครบวงจร เป็นแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการคำนวณคร่าว ๆ ว่ากระบวนการผลิตจนได้ “อะลูมิเนียมบริสุทธิ์” ใช้ไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานการถลุงแร่และขนส่ง 100% แต่ถ้าเทียบกับการนำของเก่าไปหลอมกลับไปใช้ใหม่จะใช้ไฟฟ้าแค่ 5% เท่านั้น

เทรนด์กรีนใช้ “อะลูมิเนียม” เพิ่ม
อะลูมิเนียมที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เรียกว่าเป็นทรัพยากร และเป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่รัฐยังไม่มีนโยบายควบคุมการส่งออก
ธีรพันธุ์ กล่าวว่าประเทศไทยมีการนำอะลูมิเนียมรีไซเคิลส่งออกไปยังเกาหลี และจีน ขณะที่เวียดนามใช้มาตรการทางภาษีควบคุม ส่งออกต้องเสียภาษี 22% มาเลเซียเช่นเดียวกันต้องเสียภาษี 10% อย่างไรก็ตามในปี 2030 เทรนด์เรื่องกรีนที่มาแรง ความต้องการใช้อะลูมิเนียมในประเทศจะเพิ่มมากขึ้น มีผู้ต้องการใช้อะลูมิเนียมใหม่คือ “รถอีวี” ที่จะเปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กมาใช้อะลูมิเนียมเพราะทำให้รถเบาขึ้น จากเดิมใช้อะลูมิเนียมในรถนํ้ามันในสัดส่วน 20-30 กก. ต่อคัน จะเพิ่มเป็น 200 กก. ต่อคันในรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับแผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม ที่ใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน ต้องใช้อะลูมิเนียมทั้งสิ้น
อะลูมิเนียมจะเป็น “เดอะเบสต์” ของความยั่งยืนในอนาคต.