ซึ่งปัจจุบันองค์กรใหญ่ ๆ ต่างก็ช่วยกันลดปริมาณคาร์บอนที่ใช้ในอุตสาหกรรม และมีการดำเนินกิจการ Carbon Reduction กันมากขึ้น นอกจากนั้นองค์กรต่าง ๆ ยังช่วยกันสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเรื่องการปลูกป่า เพื่อที่จะช่วยกันสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) อย่างไรก็ดี ถึงแม้เราจะช่วยกันลดคาร์บอนกันมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับคาร์บอนที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวัน จึงมีคนรุ่นใหม่ได้ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะจับคาร์บอนในอากาศใส่กล่องเพื่อนำกลับไปฝังลงดินเช่นเดิม ทำให้ช่วงนี้ เราจึงมักจะได้ยินคำว่า “CCS” บ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับ “CCS (Carbon Capture and Storage) นั้น คือการดักจับคาร์บอนและจัดเก็บเพื่อลดภาวะโลกเดือด อีกวิธีหนึ่ง โดย CCS จะมีหลักการอยู่ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การกรองแยกคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยในอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงปูน โรงเหล็ก แล้วอัดเก็บในรูปของเหลว 2.การขนส่งคาร์บอนที่ถูกอัดเก็บ ด้วยพาหนะทางบกและทางนํ้าที่ปลอดภัย หรือผ่านทางระบบท่อส่ง 3.การหาพื้นที่จัดเก็บที่ปลอดภัย โดยการฉีดลึกเข้าไปในโพรงใต้ชั้นหิน ซึ่งเพื่อความปลอดภัย นักวิทยาศาสตร์ได้มีการกำหนดว่าจะต้องลึกลงไปจากพื้นดินอย่างน้อย 1 กิโลเมตร ส่วนตัวอย่างของโครงการในลักษณะนี้นั้น ก็มีอาทิ โครงการ “Zero Carbon Humber” ประเทศอังกฤษ ซึ่งพื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในบริเวณทางใต้ของทะเลเหนือ ห่างจากชายฝั่งไปราว 90 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปจากใต้พื้นทะเลประมาณ 1.6 กิโลเมตร ซึ่งมีลักษณะการออกแบบคล้ายกับ โครงการ “Citronelle Project” รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ลึกลงไปราว 2.9 กิโลเมตร ในขณะที่ ประเทศไทย นั้น บริษัทชั้นนำอย่าง SCG และ ปตท. รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ก็ได้ศึกษาโครงการ CCS เช่นกัน อาทิ ปตท.สผ. ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของ CCS ในแหล่งอาทิตย์ บริเวณอ่าวไทย และคาดว่าจะสามารถสร้างต้นแบบได้ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการจับคาร์บอนลงดินขนาดใหญ่ทั่วโลกอยู่ราว 194 โครงการ โดยบางโครงการได้เริ่มปฏิบัติการไปแล้ว ส่วนที่ตั้งโครงการต่าง ๆ นั้น ราว 94 โครงการมีพื้นที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกา และอีก 73 โครงการตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ขณะที่อีก 21 โครงการนั้นตั้งอยู่ที่เอเชียแปซิฟิก กับอีก 6 โครงการอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยกันจับคาร์บอนอัดลงดินได้ถึง 244 ล้านตันต่อปี โดยโครงการ CCS เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1972 ที่แหล่งนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา และค่อย ๆ มีการขยายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ CCS ได้มีผลวิจัยออกมาแล้วว่าการจัดเก็บคาร์บอนลงใต้ดินนั้นมีความปลอดภัย จนทำให้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ที่กำลังจะมีการนำมาขยายผลเพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ทั่วโลก เพื่อเป็นอีกแนวทางในการกำจัดคาร์บอนเพื่อโลกที่ยั่งยืน ซึ่ง CCS นี้ นับเป็นหนึ่งในตัวอย่าง โดยคาดว่าในอนาคตโลกจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับการกำจัดคาร์บอนออกมาอีกมากมาย ที่สะท้อนว่าวิกฤตินี้ได้กลายเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจในอนาคต.