แต่ถึงวันนี้ นิด้าก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ปรัชญา “Wisdom for Sustainable Development สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยปรัชญาใหม่นี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างปัญญาให้แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาคมนิด้า เพื่อสร้างสังคมโลกที่ดีขึ้นผ่านแนวทาง 3 สร้าง ได้แก่ 1.“สร้างปัญญา” เพื่อพัฒนาสังคม 2.“สร้างผู้นำศตวรรษที่ 21” ในระดับโลก 3.“สร้างประโยชน์” ให้กับส่วนรวม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG

ทั้งนี้ จากปรัชญาและยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ผู้บริหารของนิด้าจึงได้ให้ความสำคัญกับความรู้ ความเข้าใจ และการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG ทั้ง 17 ข้อ ด้วยหัวใจของความ “พอเพียง” ที่เป็น DNA ของมหาวิทยาลัย จึงมีแนวทางที่พัฒนาการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการระเบิดจากข้างใน โดยให้ทุก ๆ หน่วยงาน ทุก ๆ คณะได้ลองลงมือทำ หรือคิดค้นโครงการต่าง ๆ ที่เป็นนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขบวนการทำงาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเมื่อทดลองทำแล้ว ก็ให้นำประสบการณ์กับความรู้ต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อต่อยอดจากโครงการเล็ก ๆ ในหน่วยงาน ไปเป็นการขยายผลไปทั่วมหาวิทยาลัยได้

โดย รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ ได้จัด KM Forum ขึ้นมา เพื่อแข่งขันโครงการด้านความยั่งยืนจาก 20 หน่วยงานในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามแต่ถ้าแข่งกันเอง ดูกันเอง วิจารณ์กันเองก็จะดูกระไรอยู่ ทางนิด้าจึงเชิญ 3 กูรูด้านความยั่งยืนมาร่วมเป็นผู้ตัดสินและให้คำแนะนำกับทีมต่าง ๆ ซึ่ง 3 ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมา ประกอบด้วย ดร.กนกวรรณ ศรีสุนทร General Manager สังกัด Executive Office บริษัท Sanken Setsubi Kogyo, สุนทร เป้าปิด Manager Corporate Strategy BCPG Public Company Limited และ สุกิจ อุทินทุ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน คอลัมนิสต์กิตติมศักดิ์ของเดลินิวส์ Sustainable Daily โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดช่วยแนะนำว่าโครงการต่าง ๆ ควรใช้ความสามารถหลัก หรือทักษะของบุคลากรอย่างไรเพื่อก้าวผ่านการพัฒนางานประจำวันแบบธรรมดาไปสู่ความคิดที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น ที่อาจจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมก็ได้ และโครงการที่ทำควรจะแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลาย ๆ เรื่องของ SDG โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงแค่ใส่โลโก้สีต่าง ๆ เข้าไป นอกจากนั้นยังควรเป็นภารกิจในขบวนการของมหาวิทยาลัย เช่น งานพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน งานวิจัย และการบริการวิชาการ โดยอาจเริ่มจากโครงการง่าย ๆ ที่ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วม ที่สามารถวัดผลและขยายผลได้

สำหรับทั้ง 20 ทีมที่นำเสนอนั้น ก็จะต้องตอบคำถามเข้มข้นจากกรรมการ ซึ่งเป็นความลำบากใจอย่างมากของกรรมการในการให้คะแนน และจะตัดสินว่าทีมใดจะชนะเลิศ เพราะทุก ๆ ทีมต่างก็มีผลงานที่ดีและสูสีกันมาก อย่างไรก็ตาม แต่กูรูทั้ง 3 ได้ชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกทีม โดยเฉพาะทีมที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ รองอธิการบดีและทีมบริหารยังได้ยํ้าถึงเรื่องนี้ว่า นี่เป็นเพียงแค่ก้าวแรกของการเดินทางของความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ทุก ๆ หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกิดความเข้าใจในเรื่องของ SDG เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่ถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่นี่คือตัวอย่างที่ดีของมหาวิทยาลัย ที่ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน.