เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีวาระสำคัญ แต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผงาดครองนามเรียกขาน พิทักษ์ 1 ก้าวขึ้นสู่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14 อย่างเต็มภาคภูมิ ทำหน้าที่ผู้นำยุทธจักรสีกากี นำพาข้าราชการตำรวจก้าวสู่ยุคใหม่

ที่ผ่านมาทีมข่าว เดลินิวส์ นำพาผู้อ่าน ทำความรู้จัก ประวัติ “มือปราบสายธรรมะ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล คนนี้กันมาบ้างแล้ว ที่เส้นทางชีวิต ก่อนจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต เคยมานะบากบั่นจากพนักงานบริษัทน้ำมัน สู่จุดสูงสุดข้าราชการตำรวจ คว้าดาวนามเรียกขาน “พิทักษ์ 1” และวันนี้เราจะพามาย้อนความทรงจำอีกครั้ง ว่าเส้นทางแห่งยุทธจักรสีกากีสายนี้ กว่าจะก้าวสู่จุดสูงสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ฟันฝ่าผ่านขวากหนามอะไรมาบ้าง และมีผลงานสำคัญโดดเด่นอะไร ที่นำพามาถึงจุดสูงสุด ก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี 2567

ชาวเพชรบุรี น้องคนสุดท้องตระกูล ‘สุขวิมล’

สำหรับ “รองต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เกิดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2507 ที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 5 คน และเป็นน้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวัง ชีวิตครอบครัวสมรสกับนางนิภาพรรณ สุขวิมล มีบุตรสาวทั้งสิ้น 2 คน จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนพันธะศึกษา ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ ระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 38 และจบปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณทิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

เลือกเดินตามความฝันวัยเยาว์ ก้าวสู่ ‘ยุทธจกัรสีกากี’

ก่อนจะเข้ามาสวมเครื่องแบบสีกากี น้อยคนจะรู้ว่า เคยเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันมาก่อน แต่ด้วยความฝันในวัยเยาว์ จึงตัดสินใจเบนเข็มเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เดินตามความฝันในวัยเยาว์ โดยเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิ ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือ กอต. รุ่นที่ 4

เริ่มต้นเป็นตำรวจด้วยอายุ 33 ปีเศษ

แม้ไม่ได้จบจากโรงเรียนเหล่า-เป็นนักเรียนนายร้อย แต่เส้นทางสีกากีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ต้องยอมรับว่าโดดเด่น ไม่แพ้ชาวรั้วสามพราน ประเดิมตำแหน่งแรก เป็นรองสารวัตรอยู่ที่กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันรถสายตรวจ เมื่อ 1 ก.พ. 2541 ในวัย 33 ปีเศษ ซึ่งถือว่าเริ่มต้นเป็นตำรวจด้วยอายุที่มากพอสมควร อยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี พอติด ยศร้อยตำรวจโท ก็ไปเรียนที่โรงเรียนสืบสวนวิทยาลัยการตำรวจ รุ่นที่ 71 รองต่อ ระบุ เป็นรุ่นที่นครบาลล้วน เมื่อก่อนเขาก็จะไปคัดตัวจากโรงเรียนสืบสวนมา พวกที่ได้ที่ 1, 2, 3 เพื่อมาอยู่กองปราบฯ ตนเองไปสอบได้ที่ 3 ที่ 1 เป็นกองปราบฯ อยู่แล้ว ที่ 2 เป็นครูจากศูนย์ฝึกอบรมเขาไม่มา ก็เลยปรับได้มาเป็นรองสารวัตร แผนก 3 กอง 2 ย้ายจาก 191 มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ร้อยตำรวจโท โดยเป็นรองสารวัตรอยู่ 7 ปีเศษ จนครบหลักเกณฑ์

25 ปีที่รอคอยก้าวสู่ ผบ.ตร. คนที่ 14

จากนั้นออกไปขึ้นสารวัตรที่รถสายตรวจท่องเที่ยว สถานี 3 กองกำกับการ 1 คุมฝั่งธนฯ เป็นรถสายตรวจท่องเที่ยว ทั้งชีวิตก็อยู่กับรถสายตรวจตลอด กลับมาเป็นสารวัตรคอมมานโด, รองผู้กำกับการปฎิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราม (รอง ผกก.ปพ บก.ป.), ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราม (ผกก.ปพ.บก.ป.), รองผู้บังคับการปราบปราม (รอง ผบก.ป.), ก่อนที่ปี พ.ศ. 2561 กำกับการปฏิบัติการพิเศษได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหน่วยงานใหม่ เป็น “กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ” โดยมี พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรก, เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.), เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.), ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานปราบปราม โดยอยู่ในลำดับที่ 4 ของบัญชีอาวุโส ก่อนได้รับการแต่งตั้งขึ้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 โดยใช้ระยะเวลา 25 ปี ในเส้นทางข้าราชการตำรวจ

ผู้นำทัพล้างบางมาเก๊า888-ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ด้วยบุคลิกที่อ่อนนอกแต่แข็งใน และเติบโตมาในสานงานปราบปราม บ่อยครั้งจะเห็นภาพ “รองต่อ” สวมเครื่องแบบพร้อมอาวุธครบมือถือปืนนำหน้ากำลังคอมมานโด เปิดยุทธการฟ้าสางกวาดล้างมือปืนผู้มีอิทธิพล เรียกได้ว่ามีเสียงปืนดังขึ้นที่ไหน ต่อให้ขึ้นเหนือ-ล่องใต้ รองต่อไปหมด ขณะเดียวกันในแง่วิสัยทัศน์ “รองต่อ” เป็นตำรวจที่เน้นการพัฒนาระบบ หลายครั้งที่เดินทางไปดูงานต่างประเทศ ก็จะหยิบยกข้อเด่นของแต่ละสถานที่ที่ไปดูงานมา นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาบุคคลากรในองค์กร เห็นได้จากการนำผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาปรับโฉมรถสายตรวจ ที่ใช้ในปัจจุบันให้เป็นมีสีสะท้อนแสงร่วมกับตัวรถ ให้ง่ายต่อการมองเห็นในเวลากลางคืน และจุดประกายนำปืน “ช็อตไฟฟ้า” ลดความสูญเสียของผู้ปฏิบัติ กระทั่งการปัดฝุ่นระเบียบปืนสวัสดิการ แก้ไขเรื่องอาวุธปืนหลวงถูกนำไปขาย โดยนำ QR Code มาใช้ตรวจสอบและติดตามแก้ปัญหา ได้ให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกันได้เร่งถอดบทเรียนให้ความรู้ หนี-ซ่อน-สู้ “แอคทีฟ ชู้ตเตอร์” ให้ความรู้ตำรวจทั้งสายงานปราบปราม–หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับมือเหตุเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุกราดยิง ควบคู่กับการต่อยอดความรู้ไปยังสถานศึกษา และหน่วยงานอื่น กลายเป็นหลักสูตรที่รู้จักแพร่หลาย

ไม่เพียงเท่านี้ บ่อยครั้งจะเห็นภาพ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ออกตรวจเยี่ยมกำลังพล ควบคู่กับดูแลจัดสวัสดิการตำรวจชั้นผู้น้อย และในห้วงที่ “รองต่อ” ดำรงตำแหน่ง ผกก.คอมมานโด ได้จัดระเบียบหน่วยใหม่ เน้น “สวัสดิการ” ลูกน้อง ตรวจดูบัญชีครัวเรือนของลูกน้องทุกคน พร้อมจัดหาสวัสดิการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

ผลงานในรอบปีนี้ หน้างานปราบปรามที่มี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล คุมหน้างานค่อนข้างโดดเด่น ทั้งกวาดล้างขบวนการพนันออนไลน์เครือข่ายมาเก๊า888, ตัดวงจร “ซิม-สาย-เสา” สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์, ทลายเครือข่ายขบวนการหลอกขายข้อมูลส่วนบุคคล แก๊งลอบเข้าข้อมูลระบบขนส่งปรับแต่งเล่มทะเบียนสวมรถหรู เป็นต้น.