เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยถึงผลการประชุมผู้บริหาร กทม. ถึงความคืบหน้าเรื่องการเตือนเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉิน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ห้างสยามพารากอนว่า ขณะนี้ กทม. ทำต้นแบบของทราฟฟี่ ฟองดูว์ พลัส (Traffy Fondue Plus) เสร็จแล้ว ก่อนหน้านี้มีการใช้แจ้งเหตุ แจ้งเรื่องร้องเรียน มีผู้ลงทะเบียนประมาณ 4 แสนคน ถือว่าเยอะสำหรับ กทม. ซึ่งมีประชากรตามทะเบียนอยู่ 5 ล้านคน โดยมีการเพิ่มในส่วนเมนู “รับข่าวสารเตือน”
“ตอนนี้พัฒนาเสร็จแล้ว มีปุ่มให้คลิกได้ว่า คุณต้องการรับข่าวสารหรือว่าแจ้งเหตุไหม และกำหนดพื้นที่ในการรับแจ้งข้อมูลได้ว่าจะรับในโซนหรือรัศมีเท่าไหร่จากจุดที่อยู่ เมื่อมีเหตุการณ์เราสามารถส่งข้อความไปถึงผู้ที่ขอรับข้อความ ตามพื้นที่ที่ตัวเองกำหนดได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ตัวนี้ กทม. พร้อมแล้ว”
อย่างไรก็ตาม อีกรูปแบบคือส่งถึงทุกคนที่เป็นสมาชิก กรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ ดังนั้น จึงเหลือแค่เตรียมเปิดใช้งาน แต่ขั้นตอนอีกเล็กน้อยในเรื่องการสรุปค่าใช้จ่าย เพราะต้องส่งผ่านไลน์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 สตางค์ต่อข้อความ ปัจจุบันเข้าใจว่า กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่
ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึงรูปแบบสำหรับนักท่องเที่ยว ว่ามีทราฟี่ ฟองดูว์ ที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะนักท่องเที่ยวอาจมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแท็กซี่ผี ไกด์ผี สามล้อโกง จึงต้องมีภาษาอังกฤษ เพียงแค่ไม่ได้ใช้ ไลน์ แต่ใช้เป็นเว็บเบส ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะใช้ในการสื่อสาร
ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการหารือกับ กสทช. พบว่า กสทช. เคยศึกษาเรื่องทางเทคนิคไว้แล้ว และก็เปรียบเทียบระบบต่างๆ ที่เคยใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆ ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเป็นคณะเล็ก โดยจะดูเรื่องความสามารถทางเทคนิค ระบบ และพื้นที่ ว่ามีจุดใดจะสามารถทดลองเตือนบางข้อความขึ้นก่อนได้บ้าง
เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าไม่เกินกลางเดือน ม.ค. 67 อาจทดลองส่งข้อความเตือนบางเรื่องได้ก่อน เพราะข้อมูลเมื่อป็น Emagency Alert หรือเป็นการเตือนฉุกเฉินจะต่างจากเตือนล่วงหน้า เพราะการเตือนฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุขึ้น ณ ขณะนั้นก็จะเตือนเลย จึงยังมีข้อที่ต้องระวังเกี่ยวกับข้อความที่ส่งออก และเมื่อเตือนแล้วกระบวนการรองรับในพื้นที่ต้องพร้อมมาก จึงต้องใช้เวลาในการออกแบบปรับปรุง และเตรียมพร้อมระบบอีกเล็กน้อย
ขณะที่นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจไม่โหลดแอปพลิเคชัน จึงต้องทำเป็น QR Code ไปแปะไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อโหลด QR Code ก็จะลิงก์ตรงไปยังเว็บเบส (web based) สามารถแจ้งได้เลย.