น.ส.อัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม  เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีงบ 63 และปีงบ 64 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้ พบว่า มีจำนวนเบาะแสข้อความที่ต้องคัดกรองเพิ่มมากขึ้น แต่หลังการคัดกรอง พบจำนวนข่าวที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบลดลง ขณะที่ เริ่มเห็นแนวโน้มข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนลดสัดส่วนลง โดยสัดส่วนข่าวจริงสูงขึ้น

โดยในส่วนของข้อความข่าวที่คัดกรอง เมื่อปี  63 มีข้อความข่าวที่คัดกรองเฉลี่ยต่อเดือน 1.6 ล้านข้อความ และปี 64 มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 22 ล้านข้อความ ขณะที่ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์นำมาตรวจสอบปีล่าสุดนี้ลดลง 8.65% เมื่อเทียบจากปี 63 ซึ่ง หลังจากประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว พบว่าสัดส่วนข่าวปลอมในปี 64 ลดลง 26.43% ข่าวจริงเพิ่มขึ้น 28.66% และข่าวบิดเบือนลดลง 6.69%

ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอีเอส ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคง (ANSCOP) (ศตปค.ตร.)  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด โดยปี 63 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย 158 ราย ดำเนินคดีแล้ว 59 ราย และปีล่าสุดนี้จำนวน 135 ราย ดำเนินคดีแล้ว 57 ราย

น.ส.อัจฉรินทร์  กล่าวต่อว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกถึงปัจจุบัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการข่าวปลอม เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน ตลอดจนสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างความรู้เท่าทันข่าวปลอมให้กับประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ

โดยในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กระทรวงฯ ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.63 – 31 ส.ค. 64 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีจำนวนข้อความที่ถูกคัดกรองกว่า 104 ล้านข้อความ พบเข้าหลักเกณฑ์และนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ 10,283 ข้อความ และได้รับการประสานยืนยันจากหน่วยงานต่างๆ รวมเป็นข่าวจำนวน 5,348 เรื่อง สัดส่วนมากสุดอยู่ในหมวดสุขภาพ 55.60% ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ 41.20% และหมวดเศรษฐกิจ 3.20%  และไม่พบหมวดภัยพิบัติที่เข้าข่ายเกี่ยวกับโควิด

 “เราต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากการหลงเชื่อข่าวปลอมข่าวลวง และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ภารกิจกระทรวงฯ ที่สำคัญอีกทางคือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ การใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม ประชาชนได้รู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม ในการเผยแพร่และการแชร์ส่งต่อหรือแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนจะผลักดันให้เกิดการบรรจุ เป็นหลักสูตร การรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนในการรู้เท่าทันในข่าวปลอม อย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรองก่อนการแชร์ต่อ” น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว