วันเสาร์นี้ (11 พฤศจิกายน 2566) การแข่งขันฟุตบอลประเพณีของ 4 โรงเรียนชายล้วน “จตุรมิตรสามัคคี” จะวนกลับมาถึงอีกครั้ง

นี่นับเป็นการแข่งขันครั้งที่ 30 แข่งกันระหว่างวันเสาร์ที่ 11 พ.ย. จนถึง วันเสาร์ที่ 18 พ.ย. 66 ที่สนามศุภชลาศัย โดยเจ้าภาพคือโรงเรียนเทพศิรินทร์ มาในคอนเซปต์ “สร้างความดี สู่วิถีชีวิตใหม่”

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ฟุตบอลประเพณีที่สืบทอดกันมานานเกือบ 60 ปีอย่าง “จตุรมิตรสามัคคี” มีสาเหตุเกิดจากยกพวกตีกันของนักเรียนในยุค “2499 อันธพาลครองเมือง” ใครไม่เชื่อ ไปอ่านเลย

ช่วงรอยต่อระหว่าง พ.ศ. 2499 ถึงราว พ.ศ. 2506 คือช่วงที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “ยุคอันธพาลครองเมือง”

บรรยากาศบ้านเมืองในช่วงนั้น เต็มไปด้วยวัยรุ่นเลือดร้อน แต่ละโรงเรียนยกพวกตีกันไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความหนักใจให้ผู้ปกครองบ้านเมือง และผู้ปกครองยิ่งนัก

หลายแก๊งหลายก๊ก ตั้งตัวเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นมาเฟียเต็มคราบ รีดไถเรียกค่าคุ้มครองจากประชาชน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไปทั่ว

เป็นที่มาทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงกับ ต้องออกกฎหมาย เพื่อกำราบพวกอันธพาลโดยเฉพาะ

ไม่ใช่แค่พวกอันธพาลเท่านั้น เหล่า “นักเรียนขาสั้น” ในโรงเรียนต่างๆ ก็มีเรื่องมีราว ยกพวกมีเรื่องชกต่อยกันไม่เว้นแต่ละวันเช่นกัน

ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และพยายามหาทางออก จนบังเกิดไอเดียบางอย่าง นั่นคือ

“สร้างโรงเรียนชายตัวอย่าง”

เพื่อแสดงให้สังคมเห็นกันไปเลยว่า โรงเรียนชายดีๆ ยังมีอีกมากมาย ที่รักกัน สามัคคีกัน ไม่ยกพวกตีกัน

4 โรงเรียนชายที่ถูกเลือกมาเป็นตัวอย่างก็คือ สวนกุหลาบวิทยาลัย, เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียน

แต่แค่การถูกวางให้เป็นโรงเรียนตัวอย่าง มันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเท่าไหร่ ผู้อำนวยการของทั้ง 4 โรงเรียนในขณะนั้น จึงหารือกันว่า อยากจะทำอะไรบางอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่น และสามัคคีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ก่อนสรุปกันได้ว่า “มาเตะบอลกันเถอะ”

จากความคิดริเริ่มของ อ.โปร่ง ส่งแสงเติม อาจารย์ใหญ่ของสวนกุหลาบฯ และ อ.อารีย์ เสมประสาท อาจารย์ใหญ่ของกรุงเทพคริสเตียนฯ

ก่อนไปขอความร่วมมือ อ.บุญอวบ บูรณะบุตร อาจารย์ใหญ่ของเทพศิรินทร์ และ อ.บรรณา ชโนดม อาจารย์ใหญ่ของอัสสัมชัญ

จึงเกิด “จตุรมิตร” ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 โดย สวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ

การแข่งขันในช่วงแรก นักฟุตบอลของทั้ง 4 ทีม ก็คือ นักเรียนในโรงเรียนนั่นแหละ ใครพอจะมีแวว เตะบอลได้ อาจารย์ก็จับลงสนามไปเล่นเลย

ไม่ได้มีการใช้ตัวนักเตะดีๆ ดังๆ เหมือนในช่วงหลัง

รูปแบบการแข่งขันก็ค่อนข้างเรียบง่าย เตะแบบพบกันหมด ใครผลงานดีกว่าก็คว้าแชมป์ในปีนั้นๆ ไป

การเชียร์ก็ไม่ได้มีอะไรมาก ไม่มีขบวนพาเหรด แปรอักษร แต่งเพลงเชียร์ หรือเชียร์ลีดเดอร์ อลังการอย่างในปัจจุบัน

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป “ความขลัง” ของ จตุรมิตร ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้ง 4 โรงเรียน ช่วยกันพัฒนาทั้งการจัดการแข่งขันโดยรวม และภายในโรงเรียนตัวเองทั้งใน และนอกสนาม

เราจึงได้เห็นการแข่งขันที่เติบโตขึ้นทุกวัน เป็นที่พูดถึงมากขึ้นทุกปี และมีประเพณีที่งดงามถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่นมากมาย

เป้าหมายคือความสามัคคีของทั้ง 4 สถาบัน

และถ้าจะว่าไป “จตุรมิตรสามัคคี” ไม่ได้หมายถึงแค่ช่วงระหว่างวันที่มีการแข่งขันฟุตบอลเท่านั้น

แต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมมากมาย ทั้งที่ 4 โรงเรียน ทำร่วมกันตั้งแต่ ก่อน ระหว่าง และ หลังการแข่งขันด้วย

“จตุรมิตร” มักจะจัดในช่วงเดือน พ.ย. หรือปลายปี ของทุกปี ก่อนหน้านั้น ในเดือน ต.ค. ทั้ง 4 โรงเรียน จะมาร่วมทำกิจกรรมที่สำคัญมากร่วมกันเป็นประจำ

นั่นคือ พิธีน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระปิยมหาราช” ในวันที่ 23 ต.ค.

คณะครู นักเรียน และวงดุริยางค์ 4 สถาบัน จะมาร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

และวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องในวันปิยมหาราช

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงริเริ่มพระราชกรณียกิจในหลายๆ ด้าน เพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงการวางรากฐานการศึกษาไทย

ซึ่งโรงเรียนในเครือจตุรมิตร ทั้ง 4 โรงเรียน ต่างเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งในยุคแรกเริ่มของการศึกษาในประเทศไทยนั่นเอง.

Cr. เครดิตภาพจากเพจ Jaturamitr_Official, Jaturamitr 30th by Grand Sport