นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการทุกหน่วยงาน “ถอดบทเรียน” จากหลายเหตุการณ์ เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย แม้หน้างานป้องกันเหตุ หรือระงับเหตุโดยตรงขึ้นอยู่กับฝ่ายความมั่นคงก็ตาม แต่ในฐานะ “ผู้รักษาบ้าน” ให้สงบเรียบร้อย ลูกบ้านอยู่ด้วยความปลอดภัย สบายใจ การแสวงหาความร่วมมือกับทุกหน่วยงานจึงเกิดขึ้น
การแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุร้ายไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดทั้ง อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย หรือภัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์ทั้งโดยตรงหรือทางอ้อม กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ไม่เกิดข้อสงสัย “วัวหายล้อมคอก”
ล่าสุด กทม. หารือการพัฒนาระบบ “แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน” และการเผชิญเหตุในพื้นที่กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ หลังเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน มีเสียงทวงถามจากประชาชนถึงระบบการแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ค่อนข้างรุนแรงว่า จะสามารถแจ้งเตือนได้อย่างไรบ้า ก่อนหน้านี้ กทม. เคยหารือ กสทช. ซึ่งจะเป็นผู้ศึกษาระบบเทคนิคเกี่ยวกับ Operator เครือข่ายโทรศัพท์ด้วยระบบ ถึงวิธีการส่งข้อมูล ซึ่งพบความยากการจัดการระบบคือ “เนื้อหา” ของเหตุการณ์
ยกตัวอย่าง เหตุกราดยิง หรือเหตุความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับวินาศกรรม จะข้องเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดในพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่ปิด การจะส่งข้อมูลแจ้งเตือน ข้อมูลต้องถูกกลั่นกรอง เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อแจ้งเตือนแล้วต้องมีแนวปฏิบัติให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
อีกมุมหนึ่ง กทม. มองว่ายังมีภาวะฉุกเฉินบางประเภท เช่น อัคคีภัย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม.เต็มรูปแบบ หากจะทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน อาจทำเบื้องต้นรองรับระบบและขั้นตอนทำงานที่รัดกุมในเรื่อง “อัคคีภัย” ได้ ล่าสุด จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตั้งคณะทำงาน วางขั้นตอน และระบบในการส่งข้อมูลแจ้งเตือน
ทั้งนี้ เมื่อขั้นตอนการทำงานการแจ้งเตือนอัคคีภัยครบถ้วน จะทดสอบระบบเบื้องต้นใน Traffy Fondue คาดว่าภายในเดือน ม.ค. 67 จะสามารถทดสอบระบบได้
“ด้วยเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุม กทม. จึงเริ่มจากเหตุการณ์ที่เกิดบ่อย และจะขยายผลไปถึงเหตุฉุกเฉินที่มีผู้คนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก มีเงื่อนไขความเสี่ยงและความปลอดภัยที่สูงเกี่ยวข้อง ส่วนความเป็นไปได้ในการส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านมือถือ ในทางเทคนิคสามารถทำได้ แต่ก็มีข้อจำกัดของค่าใช้จ่าย และการจัดการระบบอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน”
พร้อมชี้สิ่งสำคัญคือการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เป็นลักษณะการแจ้งคนละแบบและมีการตอบสนองคนละอย่างกับการแจ้งเตือนภัยอื่น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีความระมัดระวัง
จาก สถิติเหตุสาธารณภัย ในพื้นที่ กทม. ข้อมูลโดย ศูนย์วิทยุพระราม ฝ่ายการสื่อสารและสารสนเทศ สำนักงานอำนวยการสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. พบเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยมากสุด 5 อันดับแรก (ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค. 66) ประกอบด้วย
บริการกำจัด หรือจับงู, บริการกำจัด หรือจับตัวเงินตัวทอง, บริการกำจัด หรือจับรังผึ้ง, ไฟไหม้หญ้าและขยะ และไฟฟ้าลัดวงจร (เพลิงไหม้นอกอาคาร) รวมมีเหตุทั้งหมด 31,578 เหตุ
ทั้งนี้ เฉพาะเหตุไฟฟ้าลัดวงจร (เพลิงไหม้นอกอาคาร) มีจำนวน 644 เหตุ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบที่พัฒนาการรับแจ้งเหตุร้ายนำร่องไปก่อนแล้วคือ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) ซึ่งพัฒนา แอปพลิเคชัน 191 ( Call 191 Metro Police) ใช้เป็นแอปรับแจ้ง นอกเหนือสายด่วน “จุดเด่น” ชัดเจนของแอป แจ้งเหตุช่วยลดขั้นตอนแจ้ง “พิกัด” ซึ่งเป็นหัวใจการทำงาน เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงได้เร็วขึ้น
สำหรับระบบจะแสดงพิกัดงผู้แจ้ง ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ได้ทันที ลดระยะเวลาการแจ้งเหตุอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีโหมดวิดีโอคอล สามารถเห็นหน้าและเหตุการณ์ได้ในกรณีที่ผู้แจ้งประสบเหตุ หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ได้ ดังเช่น ในกรณีเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ก็สามารถที่จะใช้ฟังก์ชั่นนี้ในการแจ้งเหตุได้อีกด้วย.
ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน