จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ คดีพิเศษที่ 59/2566 หลังจากได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน กระทั่งขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าหรือชิปปิ้งเอกชน จำนวน 6 ราย (จับกุมครบแล้ว) ในความผิดฐาน นำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และล่าสุดยังสามารถจับกุม 2 ผู้ต้องหาในกลุ่มนายทุนได้นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหากลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนได้แล้ว 6 ราย และได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว เพราะไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลแก่พนักงานสอบสวน ส่วนอีก 4 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัว ได้แก่ 1.นายพิเชฐ แซ่ซี บริษัท ซี เวิรล์ โฟรเซ่น ฟูด จำกัด 2.นายโกญจนาท ศรมยุรา บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด 3.นายสมนึก กยวัฒนกิจ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด และ 4.นายวีรศักดิ์ กิจนัทธี ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนสามารถจับกุม นายโกญจนาท ศรมยุรา บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด ส่วนวันที่ 15 พ.ย. ได้จับกุม นายวีรศักดิ์ กิจนัทธี อายุ 59 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวถึงคำให้การของชิปปิ้งเอกชนภายหลังจับกุมได้ ว่า ส่วนใหญ่มักให้การว่าตัวเองได้รับจ้างนายทุน ซึ่งนายทุนจะเป็นผู้ออกของหรือออกค่าตู้คอนเทเนอร์ให้ ซึ่งในประเด็นนี้ คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อขอศาลอาญาออกหมายจับเพิ่มเติมอีก 2 ราย โดย 1 ในนี้ คือ นายสมนึก กยวัฒนกิจ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด โดยนายสมนึก มีบทบาทเหมือนสองพ่อลูก (นายวิรัช ภูริฉัตร และนายธนกฤต ภูริฉัตร) ที่ได้จับกุมไปก่อนหน้านี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของตู้คอนเทเนอร์ตัวจริง และที่สำคัญนายสมนึกยังเป็นกรรมการ บมจ.มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE หรือหุ้นมอร์ ซึ่งขณะนี้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวเช่นกัน และตนได้รับรายงานว่าเจ้าตัวประสานขอเข้ามอบตัวในวันอังคารที่ 21 พ.ย. นี้ ส่วนนายทุนอีก 1 ราย ตนยังขออนุญาตสงวนรายละเอียดไว้ก่อน นอกจากนี้ ดีเอสไอเตรียมเอาผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐของ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์ทั้ง 161 ตู้ ซึ่งถูกอายัดไว้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เบื้องต้นพบจำนวน 4 ราย เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการออกของ ส่วนรายละเอียดเชิงลึกต้องขอละเว้นการเปิดเผย เนื่องจากอาจกระทบต่อเนื้อหาสำคัญในสำนวนคดีได้

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. นี้ คณะพนักงานสอบสวนจะมีการประชุมเพื่อเตรียมขอศาลอาญาออกหมายค้นและหมายจับแก่ 2 บริษัทชิปปิ้งเอกชน ประกอบด้วย 1.บริษัท ศ. โดยมีความเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์หมูเถื่อนที่ถูกอายัดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จำนวน 39 ตู้ และ 2.บริษัท ส. เกี่ยวข้องจำนวน 2 ตู้ รวมทั้งสิ้น 41 ตู้ อีกทั้งภายในเร็วๆ นี้ ดีเอสไอเตรียมเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายสำคัญ เพื่อเก็บวัตถุพยาน พยานเอกสารหลักฐานต่างๆ นำมาประกอบเข้าสำนวนต่อไป.