ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดของประเทศ โดยมีพื้นที่ถึง 106.4 ล้านไร่ หรือ 170,218 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในอดีตประสบกับปัญหาหลักๆ คือ 1) สภาพดินเพื่อการทำกิน เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ แร่ธาตุต่างๆ มีคุณภาพต่ำไม่สามารถอุ้มน้ำได้และมีความเค็ม 2) แหล่งน้ำธรรมชาติมีไม่เพียงพอ ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้น ส่งผลต่อการเพาะปลูกพืช ขณะเดียวกันมีการใช้พื้นที่ทำกินอย่างผิดวิธี ด้วยการแผ้วถางป่าเพื่อการเพาะปลูกแบบบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ทุกปีอย่างต่อเนื่องทำให้แหล่งต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศถูกทำลาย 3) ขาดความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะเทคนิควิชาการเกษตรที่ถูกต้องการดูแลรักษาทรัพยากรอย่างมีหลักการ เช่น ความรู้ในด้านป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากดิน การจัดการพื้นที่เกษตรอย่างเหมาะสม ตลอดจนการแปรรูปผลผลิตและการทำการตลาดยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ เพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงคัดเลือกพื้นที่เพื่อจัดตั้งสถานที่ศึกษาวิจัยทดลองและจัดทำแปลงสาธิตด้วยพระองค์เอง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เพื่อจำลองลักษณะภูมิประเทศและภูมิสังคมของภาคอีสาน สำหรับพิจารณาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านทรัพยากรและคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรในพื้นที่
ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ยังบูรณาการร่วมกันสืบสานพระราชดำริ ต่อยอดขยายผลการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานการดำเนินงานมีผลสัมฤทธิ์เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดภาคอีสาน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ได้รับการต่อยอดความสำเร็จจากการศึกษา วิจัย ทดลองไปขยายผลเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าในกิจกรรมต่างๆ ทั้งอดีตและปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ร่วมกับ สำนักงาน กปร. และจังหวัดสกลนคร ร่วมกันจัดงานครบรอบ “41 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” ขึ้น ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับผลสำเร็จการดำเนินงานของหน่วยงานร่วม การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร นิทรรศการของโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายการขยายผลของศูนย์ศึกษา ฯ เช่น งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ หรือ ดินแดน 4 ดำมหัศจรรย์ ไก่ดำภูพาน หมูดำภูพาน โคเนื้อภูพาน และกระต่ายดำภูพาน การสาธิตการทอผ้าไหมย้อมคราม คาเฟ่ในสวนป่าสัก ชิมกาแฟภูพานที่หอมกรุ่น เป็นต้น
ไปจนถึงกิจกรรมตอบคำถามให้ร่วมสนุกเพื่อรับของรางวัล อาทิ ไก่ดำ กระต่ายดำ เมล็ดพันธุ์ผัก และ ของรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดรถรางพาเที่ยวชมกิจกรรมสาธิตในรูปแบบนิทรรศการที่มีชีวิตภายในศูนย์ แวะเช็คอิน ถ่ายภาพสวยๆ ณ ทุ่งดอกทานตะวันที่กำลังบานสะพรั่งสร้างความโดดเด่นให้กับทัศนียภาพที่เหมาะแก่การเก็บไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งในชีวิตได้มาถึงแล้ว “บ้านของพ่อแหล่งศึกษาเรียนรู้เพื่อการทำกินอย่างยั่งยืนของผู้คนถิ่นอีสาน”