จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ คดีพิเศษที่ 59/2566 หลังจากได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน กระทั่งขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าหรือชิปปิ้งเอกชน จำนวน 10 ราย (จับกุมแล้ว 9 ราย) ในความผิดฐาน นำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และยังสามารถจับกุม 2 ผู้ต้องหา (นายวิรัชและนายธนกฤต ภูริฉัตร) ในกลุ่มนายทุน ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ร่วมกันแถลงความคืบหน้าในการดำเนินการในคดีพิเศษ จำนวน 3 คดี ดังนี้ 1.คดีพิเศษที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 161 ตู้ หรือปริมาณ 4,025 ตัน 2.คดีพิเศษที่ 57/2566 หรือคดีหุ้นสตาร์ค (STARK) และ 3.คดีพิเศษที่ 66/2566 หรือคดีหุ้นมอร์ (MORE)

โดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน กล่าวว่า วันนี้คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการส่งสำนวนคดีเลขที่ 59/2566 ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. 1 สำนวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากภายหลังการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหลายสิบราย ได้แก่ อดีตข้าราชการ 10 ราย ข้าราชการฝ่ายการเมือง ไม่เกิน 10 ราย (จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) จึงนำส่งสำนวนคดี จำนวน 16 แฟ้ม 3 ลัง

อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนไปยังการนำเข้าซากสุกรอีก 2,385 ตู้ หรือปริมาณ 59,625 ตัน เพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษอีกหนึ่งคดี ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการองค์กรอาชญากรรมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตร โดยองค์กรอาชญากรรมดังกล่าว ประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ (หลายหน่วยงาน) ผู้ประกอบการนำเข้า (Shipping) ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สั่งซื้อสินค้า (สุกร) หรือศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อยที่สั่งซื้อสินค้า (สุกร) และผู้ประกอบการห้องเย็น คาดว่าในกระบวนการตรวจสอบขยายผล 2,385 ตู้นี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 67 และแม้จะไม่เหลือเนื้อหมูให้ตรวจพบแล้ว แต่เราก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร Invoice หรือเอกสารจากสายเรือที่เป็นพยาน เป็นต้น

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. ในวันนี้นั้น ตนไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยเนื้อหาภายในเป็นความลับ ส่วนพฤติการณ์ก็ไม่สามารถระบุได้ แต่ยืนยันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน และดีเอสไอพร้อมรับสำนวนกลับจาก ป.ป.ช. หากมีเนื้อหารายละเอียดส่วนใดที่ขาดเหลือ และในส่วนของอีก 9 สำนวนที่เหลือ ที่ได้แยกเลขคดีออกมานั้น หากระหว่างการสอบสวนเราพบว่ายังมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องเพิ่มเติม เราก็จะแจ้งข้อหาเอาผิด แต่ในเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรายอื่นๆ เกี่ยวข้องเพิ่มเติมแต่อย่างใด

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 59/2566 เราได้มีการแยกเลขคดีจำนวน 9 เลขคดี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 67 ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 101/2566 บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิฟเม้นท์ จำกัด คดีพิเศษที่ 102/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช คดีพิเศษที่ 103/2566 บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด คดีพิเศษที่ 104/2566 บริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด คดีพิเศษที่ 105/2566 บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด คดีพิเศษที่ 106/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์ คดีพิเศษที่ 107/2566 บริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟูด จำกัด คดีพิเศษที่ 108/2566 (สงวนการเปิดเผยชื่อ) และคดีพิเศษที่ 109/2566 (สงวนการเปิดเผยชื่อ) ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้เร่งรัดให้ดีเอสไอดำเนินการปราบปรามขบวนการนี้ให้หมดไป และทางดีเอสไอจะทำให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใน 3 เดือน โดยในสัปดาห์หน้า จะเริ่มเห็นความชัดเจนของกลุ่มคนที่ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน

และเมื่อช่วงเช้าวันนี้ นายสมนึก กยวัฒนกิจ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด โดยเป็น 1 ใน 10 ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่รับหน้าที่เป็นนายทุนคล้ายสองพ่อลูก (นายวิรัชและนายธนกฤต ภูริฉัตร) ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบปากคำ เบื้องต้นแจ้งข้อหา ร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 และมาตรา 244 โดยเจ้าตัวเกี่ยวข้องกับจำนวนตู้คอนเทเนอร์ 1 ตู้ แต่ก็พบว่าก่อนหน้านี้มีการนำเข้าประมาณ 40 ตู้ ในช่วงปี 64-65 อีกทั้งเจ้าตัวเพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว เมื่อช่วงปลายปี 65 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีการเริ่มนำเข้าหมูเถื่อน คณะพนักงานสอบสวนกำลังตรวจสอบว่า นายสมนึกเข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงใดบ้าง เพราะบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด มีพฤติกรรมนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับเนื้อสัตว์แช่แข็งหลายสิบตู้ ก่อนที่นายสมนึกจะเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้ขีดเส้นตายให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ตามที่เรียนข้างต้น เราได้ส่งสำนวนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง 1 สำนวน ต่อ ป.ป.ช. ส่วนที่จะดำเนินการถัดไปคือ 2,385 ตู้ โดยจะรวบรวมพยานหลักฐานที่มีการสำแดงเท็จเป็นเนื้อปลาแช่เเข็ง พลาสติกพอลิเมอร์ต่างๆ แทนการสำแดงเป็นเนื้อหมูแช่แข็ง ยืนยันว่าดำเนินการรวดเร็ว

ในวันนี้ตนจะเดินทางไปศาลอาญาเพื่อขอออกหมายค้นอีก 2 บริษัท เพื่อรวบรวมหลักฐาน และภายในสัปดาห์จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเราจะมีการเปิดปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อเข้าตรวจยึดเอกสารต่างๆ ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มนายทุน นอกเหนือจากสองพ่อลูก (นายวิรัชและนายธนกฤต ภูริฉัตร) ที่ดีเอสไอได้จับกุมไปก่อนหน้านี้นั้น เราพบข้อมูลว่าจะมีอีก 3 กลุ่ม จำนวนหลายคน ที่รับหน้าที่เป็นนายทุนเอง และยังเกี่ยวข้องกับบริษัทชิปปิ้งเอกชนนำเข้าทั้ง 9 แห่ง ที่เราดำเนินการทางอาญา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายสิบรายถูกดีเอสไอนำส่งพฤติการณ์ความผิดไปยัง ป.ป.ช. เนื่องจากมีผู้ต้องหาที่เป็นกลุ่มชิปปิ้งเอกชน ได้ให้การซัดทอดว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากบริษัทชิปปิ้งเอกชน เพื่อเอื้อต่อการเปิดตู้คอนเทเนอร์และนำเข้าสินค้าประเภทซากสุกรแช่แข็ง.