ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง แต่งตั้งองคมนตรี  ความว่า  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.66 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน นั้น

ด่วน! โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี

เปิดขั้นตอนถวายสัตย์ปฏิญาณ หลังโปรดเกล้าฯ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เป็นองคมนตรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพามาย้อนเส้นทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย สู่วันมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น องคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.66

พล.อ.ประยุทธ์ เกิดวันที่ 21 มี.ค.2497 ชื่อเล่น ตู่ ที่ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมดสี่คน คนหนึ่งคือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นทหารบกและนักการเมืองชาวไทย เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังเป็นคณะรัฐประหาร เมื่อ พ.ศ.2557

สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา จ.ลพบุรี ซึ่งมารดาเป็นครูสอนอยู่ ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ได้ยุบไปแล้ว ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 2 รอ.)
พ.ศ. 2541 – ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)
พ.ศ. 2546 – ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.)
พ.ศ. 2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 )
พ.ศ. 2551 – เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.)
พ.ศ. 2552 – รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.)
พ.ศ. 2553 – ผู้บัญชาการการทหารบก (ผบ.ทบ.)
พ.ศ. 2557 – หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562)

ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายทหารพิเศษฯ ประจำหน่วย

พ.ศ. – 2545 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
พ.ศ. – 2547 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
พ.ศ. – 2549 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ
พ.ศ. – 2554 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ

พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งมีการยุบสภาในวันที่ 20 มี.ค.66 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันหลังจากยุบสภา โดย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 โดยระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ จนถึงวันที่ 5 ก.ย.66

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศขอวางมือทางการเมือง และลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังการเลือกตั้งจบลง  กระทั่งล่าสุด ได้มีประกาศโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี 

คณะองคมนตรีชุดปัจจุบัน

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี , ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี , นายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นองคมนตรี, นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี , นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี , พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ,พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี , พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี , ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี , พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี , พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี , รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี , นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี , พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี , พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี , นายนุรักษ์ มาประณีต องคมนตรี , ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี , พล.อ.บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ องคมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย