ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง แต่งตั้งองคมนตรี  ความว่า  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.66 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน นั้น

ด่วน! โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ทีมข่าวเดลินิวส์ ได้รวบรวมข้อมูลจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ถึงขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ตามมาตรา 12 ระบุไว้ว่า องคมนตรี ต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่เป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ

นอกจากนี้มีบทบัญญัติถึงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไว้ตามมาตรา 13 (สำหรับองคมนตรี) หลักเกณฑ์ที่มีบัญญัติไว้ตามมาตราดังกล่าวมีดังนี้ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรี ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ หากกระทำหลังก็จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 วรรค 2 หากผู้มีหน้าที่ถวายสัตย์ปฏิญาณมิได้กระทำการถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัตินี้ ก็ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้และหากฝ่าฝืนไม่กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น ถวายสัตย์ปฏิญาณหลังปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ย่อมมีผลให้หน้าที่ที่ปฏิบัติไปแล้วเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง

นอกจากสำหรับถ้อยคำที่ใช้ในการถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าให้ใช้ถ้อยคำตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้มีหน้าที่ในการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อาจใช้ถ้อยคำตามอำเภอใจ.