ผมยังมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อนั่งคุยกับน้อง ๆ จนทำให้ได้รับฟังความคิดจากคนรุ่นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจน่ารับฟัง

สำหรับเสียงสะท้อนของน้อง ๆ ที่ผมได้ยินมาบ่อย ๆ นั้น ประกอบด้วยเสียงสะท้อนดังต่อไปนี้ 1.โครงการแข่งขันเหล่านี้ดีมาก ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้พัฒนาศักยภาพได้รวดเร็ว แต่ทำไมมหาวิทยาลัยไม่นำไปสอนในห้องเรียนปกติบ้าง? 2.ตอนร่วมการแข่งขัน พี่ ๆ ที่มาเป็นวิทยากรนั้น ล้วนมาจากภาคธุรกิจที่เก่ง ๆ ทำให้เนื้อหามีความทันสมัย สอนได้เข้าใจง่าย และเน้นปฏิบัติ แต่ทำไมพี่ ๆ ไม่ไปสอนในมหาวิทยาลัยบ้าง ซึ่งน่าจะมีคนสนใจเรียน แถมจะยิ่งช่วยพัฒนาน้อง ๆ ให้เก่งขึ้น 3.มาร่วมกิจกรรมแล้วได้ความรู้ ได้ outcome ตามหลักสูตร แต่เอาไปแลกหน่วยกิตหรือลดเวลาเรียนในห้องได้หรือไม่ 4.การเรียน problem base learning แบบนี้สนุกมาก ทำให้ได้พัฒนาความคิด ได้ทดลองการแก้ปัญหาจริง แต่ทำไมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังชอบสอนแต่ทฤษฎียาก ๆ อยู่แต่ในห้องเรียนแบบ lecture base 5.อยากให้พี่ ๆ จากภาคธุรกิจไปคุยกับกระทรวง อว. กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ร่วมมือพัฒนาการเรียนรู้ให้ทันสมัย ให้สามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงอยากฝึกงานในบริษัทของพี่ ๆ และจบแล้วก็อยากให้พี่ ๆ รับ น้อง ๆ เข้าทำงานด้วย และนี่คือเสียงสะท้อน ของคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับฟังมา

ทั้งนี้ เมื่อผมได้ฟังเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ซํ้า ๆ บ่อย ๆ ผมจึงถอดรหัสได้ว่า การศึกษาในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน รวมถึงยังไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน และก็ยิ่งดูห่างไกลกับความต้องการในอนาคตอีกด้วย ผมจึงลองนำสิ่งที่ได้ยินจากน้อง ๆ มาถามอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และนักการศึกษา และนี่ก็คือสิ่งที่ผมได้รับคำตอบกลับมา อาทิ การเปลี่ยน mindset อาจารย์เป็นเรื่องที่ยากมาก สอนแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นมีปัญหา เพราะวัดผลง่ายตาม QA, การออกจาก comfort zone ไปคุยกับภาคธุรกิจ มันไม่สะดวก ถ้าเขาอยากให้เราทำอะไร ก็คงจะมาหาเราเอง, อาจารย์ไม่มี KPI ในเรื่องใหม่ ๆ แบบนี้ กับต้องทำตาม KPI ต้องยึดตามนโยบายกระทรวง จึงออกนอกกรอบไม่ได้, กระทรวง อว. กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ ซึ่งถ้ามีเมื่อไรก็พร้อมทำทันที, ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร นี่เป็นเสียงสะท้อนของผู้สอนและนักการศึกษาที่ได้ยินมา ทำให้ผมสรุปได้ว่า ผู้เรียนนั้นไปยืนรออยู่ที่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ขณะที่ผู้สอนส่วนใหญ่ยังสบายใจที่จะอยู่แบบเดิม ทำให้ผมตั้งใจไว้ว่าในเร็ว ๆ นี้คงจะต้องขอสัมภาษณ์ รมต.ศึกษาธิการ และ รมต.อว. เพื่อฟังความคิดของท่านว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของเราควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร? รวมถึงเรามีวิสัยทัศน์สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 กันบ้างแล้วหรือยัง.