เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 5 จ.อุบลราชธานี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดตอนหนึ่งว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมราชการในฐานะที่รับผิดชอบดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้นำความห่วงใยมาฝากผู้บริหารสถานศึกษาทุกคน ซึ่งเมื่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีวันแรก ได้มอบนโยบายเรียนดีมีความสุข พร้อมกับเปิดช่องทางให้ครูทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาการศึกษาด้านต่างๆ โดย รมว.ศึกษาธิการ อ่านความคิดเห็นเสียฃสะท้อนของครูทุกคน และทุกๆ ความคิดเห็นไม่ได้ปล่อยผ่าน ทั้งนี้ ขอให้เชื่อว่านโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่นโยบายแบบวาดฝัน แต่จะทำให้สำเร็จและเป็นนโยบายที่จับต้องได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระงานครู การแก้ไขปัญหาหนี้ครู ซึ่งทุกๆ นโยบายจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ส่วนเรื่องการแจกแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปนั้น ขณะนี้กำลังจัดทำข้อมูลสำรวจความต้องการอยู่ แต่เบื้องต้นการจัดทำคอนเทนต์เนื้อหาสาระการเรียนรู้จะดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 67 ส่วนการแจกอุปกรณ์แท็บเล็ตหรือแล็ปท็อป จะจัดสรรได้ในปี 68 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณอย่างแน่นอน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนขอชื่นชมการแสดงผลงานนิทรรศการของนักเรียนในสถานศึกษากลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลงานนักเรียนด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทอผ้าไหม การแปรูปอาหาร การแกะสลัก โดยผลงานเหล่านี้น่าชื่นชมอย่างมาก ที่โรงเรียนช่วยส่งเสริมการศึกษาด้านอาชีพควบคู่ไปกับการเรียนด้านวิชาการ อีกทั้งยังส่งเสริมรายได้ให้แก่นักเรียนอีกด้วย ซึ่งตนอยากสนับสนุนให้โรงเรียนที่ส่งเสริมงานเหล่านี้ผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ส่วนผลงานนวัตกรรมของนักเรียน ตนขอชื่นชมที่สามรถผลิตนวัตกรรมดีๆ และใช้งานได้จริงหลายผลงาน พร้อมกับมีรางวัลการันตี ขณะเดียวกันตนสังเกตเห็นจากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่า นักเรียนพูดได้มากกว่า 1 ภาษาทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับทักษะทางภาษาของนักเรียน เพราะจังหวัดอุบลราชธานีถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ทั้ง 2 วันนี้ ส่วนใหญ่ครูขอบคุณที่ สพฐ. ช่วยแก้ปัญหาลดภาระครู โดยเฉพาะการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่นำเอางานจัดซื้อจัดจ้างไปให้เขตพื้นที่ทำแทน เพื่อให้ครูอยู่กับห้องเรียนและนักเรียนมากขึ้น.