ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 66 กรมสรรพสามิต จะเริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล เข้าสู่ระยะที่ 3 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการคงภาษี 6 เดือน ตามมติ ครม. ที่เห็นชอบ วันที่ 1 ต.ค. 65-31 มี.ค. 66 ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต โดยลดส่วนผสมจากน้ำตาลลง จะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการดูแลสุขภาพของไทยให้ห่างไกลจากโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน

สำหรับภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ที่เริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ 1 เม.ย. 66-31 มี.ค. 68 มีอัตรา ดังนี้  

  • ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร 
  • ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร

“ภาษีความหวานจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทุกๆ 2 ปี ซึ่งระยะที่ 3 จะมีผล 1 เม.ย. แล้ว ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวในการผลิต โดยลดความหวานลงจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร”

อย่างไรก็ตาม นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุม กรมสรรพสามิต เชื่อว่าการขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลรอบนี้ จะไม่กระทบให้ราคาเครื่องดื่มที่มีความหวาน หรือน้ำอัดลมราคาเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นภาระต่อผู้บริโภค เนื่องจากทางผู้ผลิตสินค้าได้ทยอยปรับตัว ลดส่วนผสมน้ำตาลลง หรือหันไปใช้น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานอื่นๆ ผสมกับน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพจะน้อยกว่าแทน ยกตัวอย่าง เครื่องดื่มส่วนใหญ่ จากที่เคยมีความหวานจากน้ำตาลเฉลี่ย 10 กว่ากรัมต่อลิตร ขณะนี้ลดเหลือ 7.3 กรัมต่อลิตร แล้ว