หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดการประชุมหารือความร่วมมือแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหาร อาทิ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมเชฟประเทศไทย และห้างค้าปลีก-ค้าส่งสมัยใหม่ แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาคเกษตรถือเป็น Core Value Chain ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรไทยมีความเกี่ยวข้องกับประชากรทั้งประเทศ และมีสัดส่วนครัวเรือนในภาคเกษตรไทยถึง 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด

 สินค้าเกษตรยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านรายได้ ผลผลิต และคุณภาพ ด้วยปัจจัยภายในและภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ความผันผวนของสภาพอากาศ  ปัญหาภัยแล้ง โรคระบาดในสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมไปถึงโรคระบาดในพืช ตลอดจนการแข่งขันในตลาดส่งออกของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้น และกฎระเบียบ มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น

จากสถานการณ์ข้างต้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีข้อห่วงใยต่อเกษตรกรราคาสินค้าเกษตรและอาหารในปัจจุบัน จึงระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนทุกภาคส่วนช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานกลางและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (Coordination Center)  เพื่อทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารทั่วประเทศ  โดยหอการค้าไทย ร่วมกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อาทิ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร) กระทรวงพาณิชย์ (อาทิ กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน แก้ไขวิกฤตของภาคเกษตรและอาหารราคาตกต่ำ สินค้าเกษตรล้นตลาด ฯลฯ ให้เป็นรูปธรรม และในวันนี้ หอการค้าไทย สมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง และห้างค้าปลีก-ส่งสมัยใหม่ได้ดำเนินการช่วยพยุงราคาสินค้าสัตว์น้ำในประเทศ ร่วมกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว โดยริเริ่มเข้าไปช่วยรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำจากเกษตรกรชาวประมงในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ทางด้าน บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  กรมประมงได้ดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาฯ ในระยะเร่งด่วนออกมาเพิ่มเป็นระยะ ๆ ที่สำคัญคือ การยกระดับมาตรการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า นอกจากนี้ กรมประมงสนับสนุนให้นำกลไกการตกลงราคาระหว่างกลุ่มชาวประมงกับสมาคมต่าง ๆ ที่เป็นผู้รับซื้อมาใช้ รวมทั้งประสานหอการค้าไทยและสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานห้างค้าปลีก-ค้าส่งสมัยใหม่ โรงแรมและภัตตาคารต่าง ๆ ให้ช่วยสนับสนุนผลผลิตประมงภายในประเทศ โดยคาดว่าหลังจากการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ จะส่งผลให้สถานการณ์ราคาสัตว์น้ำในประเทศดีขึ้นตามลำดับ และหลังจากนี้จะมีการดำเนินมาตรการระยะยาวควบคู่กันต่อไป      

ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวอีกว่า สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ขอความร่วมมือจากโรงงานสมาชิกทั้งจากภาคใต้และสมุทรสาคร ในการรับซื้อปลาจากเรือไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน แมคเคอเรล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำให้แก่ชาวประมง จะรับซื้อปลาจากเรือประมงไทยเฉพาะที่กรมประมงตรวจสอบแล้ว ไม่เป็น IUU Fishing ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือและช่วยเหลือร่วมกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเสนอว่าควรมีการสื่อสารรับทราบสถานการณ์ราคาสินค้าประมงในประเทศเป็นระยะๆ โดยกรมประมงเป็นคนกลาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสมดุลในระบบการค้าเสรี

ขณะที่ อนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า หลังจากการประชุมร่วมระหว่างกรมประมง ชาวประมงและโรงงานผู้ผลิต สมาคมฯได้นำปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงไปหารือ โดยที่ผ่านมาการซื้อขายระหว่างกันนับแต่ต้นเดือนเมษายนถึงปัจจุบัน ราคาปลาซูริมิปรับตัวสูงขึ้น เป็นที่พึงพอใจแก่ทุกฝ่าย พร้อมให้ความร่วมมือและยินดีในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงต้นน้ำฝ่าฟันอุปสรรคสามารถแก้ปัญหาไปได้ด้วยดี.