แต่แท้จริงแล้ว ผมคิดว่าความสำเร็จของ SCG มาจากเรื่องของ “คุณภาพคน” ซึ่งกลไกในการพัฒนาคนของ SCG นั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดี โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างสอดประสานกัน เพื่อพัฒนาคนและบุคลากรในองค์กรซึ่งเป็นบทบาทหลักของทีม HR ที่ช่วยกันทำการพัฒนาคนในชุมชนรอบ ๆ โรงงานที่กิจการตั้งอยู่ ผ่านภารกิจของทีม CSR นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคนที่ด้อยโอกาส เด็ก และเยาวชนของชาติ ที่เป็นภารกิจหน้าที่ของมูลนิธิ SCG

ทั้งนี้ มูลนิธิ SCG ถือเป็นต้นแบบของ Corporate Foundation ที่เป็นองค์กรการกุศล ซึ่งมูลนิธินี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Corporate Foundation เพื่อเป็นกลไกการทำงานด้านการกุศล ซึ่งฝรั่งมักจะเรียกว่า Philanthropy หรือหากเป็นนัก CSR ก็จะเรียกว่าความยั่งยืนนอกขบวนการธุรกิจ โดยผมทราบว่ามูลนิธิ SCG เริ่มช่วยเหลือเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสด้วยการให้ทุนการศึกษา และต่อมามีการต่อยอด ด้วยโครงการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ กับมีโครงการพัฒนาภาวะผู้นำของกลุ่มเยาวชน รวมถึงให้การส่งเสริมทางด้าน
ศิลปวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย และจากประสบการณ์ที่ยาวนานของมูลนิธิ SCG ที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาส ที่มักจะตกหล่นจากการศึกษากระแสหลัก เพราะปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน, ต้องทำงานและเรียนไปด้วย หรือบางคนก็ไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย เพราะมีภาระทางบ้าน หรือบางคนมองสิ่งที่เรียนนั้นไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน เหตุนี้ทางมูลนิธิจึงตระหนักดีว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อน จึงต้องมีความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

ในเวทีดังกล่าว รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการมูลนิธิ SCG บอกเล่าไว้ว่า กว่า 60 ปีที่มูลนิธิดำเนินการมาได้ให้ทุนเยาวชนที่ด้อยโอกาสไปแล้วกว่า 100,000 ทุน และในปีนี้ได้เน้นเรื่องของทุนในการพัฒนาการเรียนรู้ ที่ตรงกับความต้องการของเยาวชนและตลาดแรงงาน เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยภายในงาน Learn to Earn-เรียนรู้เพื่ออยู่รอดนั้น ทางมูลนิธิทำหน้าที่เป็น Platform เพื่อเชิญชวนภาครัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยหาแนวทางทำงานร่วมกัน เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาคน โดยจะมีกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และสภาอุตสาหกรรม มาร่วมบอกเล่าปัญหาในการพัฒนา ตั้งแต่ต้นนํ้าไปยังปลายนํ้า ผ่านมุมมองของ demand และ supply ตลอดห่วงโซ่ของการพัฒนาคน

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเร่งการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยการพัฒนาคนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งจะต้องมีทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ โดยทุกฝ่ายต้องสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ในการพัฒนาคนของเรา เพื่อให้คนไปพัฒนาชาติ

ทางด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการเสมอภาคทางการศึกษา ได้บอกว่า กสศ. เป็นกลไกเล็ก ๆ แต่มีพลัง ที่ช่วยเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาหลักซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ให้มีโอกาสเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการ และสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

ส่วน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร นั้นได้เป็นตัวแทนเล่าเรื่องการปรับตัวของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยใช้ตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นเรียนรู้ให้ตรงกับการทำงานจริงซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยได้มีการออกแบบหลักสูตรให้ผสมผสานข้ามศาสตร์เพื่อให้ เกิดเป็นโมดูลเล็ก ๆ ที่ต่อกัน ซึ่งผู้ที่ทำงานแล้วก็สามารถกลับมา reskill-upskill ให้ทันสมัยได้ตลอด และยังสามารถเก็บหน่วยกิตไว้ในเครดิตแบงก์ เพื่อสะสมให้ครบจนได้ปริญญาในอนาคตได้

ด้าน ดร.พิเชษฐ์ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เล่าว่า กระทรวงศึกษาฯ เหมือนเป็นจำเลยที่ยังไม่สามารถสร้างศักยภาพเด็กไทยให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่ 21 ได้ แต่ความจริงแล้วกระทรวงได้พยายามกันอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งตอนนี้ นโยบายรัฐมนตรีคนใหม่ อย่าง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ยํ้าว่า ขอให้จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ด้วยการพัฒนาไปพร้อมกัน ยิ่งท่านอนุทินได้กล่าวตอนต้นว่า พัฒนาคนให้คนไปพัฒนาชาติ ก็ยิ่งตรงประเด็น และถูกใจกระทรวงศึกษาฯ มาก ๆ

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้น เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม ได้นำความต้องการทักษะแรงงานต่าง ๆ ในอนาคตของอุตสาหกรรมแต่ละแขนงมาบอกเล่าเช่นกัน ทั้งอุตสาหกรรมที่กำลังจะถูก disrupt ที่ต้องรีบปรับตัว และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องเร่งเครื่องเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งนานาชาติมาบอกเล่าไว้เช่นกัน โดยระบุว่า ในขณะนี้รัฐบาล ออกไปเป็นเซลล์แมนเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนในไทยแล้ว โดยสิ่งที่ผู้ลงทุนได้ระบุมาหลังจากวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญต่าง ๆ พบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องทุนมนุษย์ ที่ไทย จำเป็นจะต้องเร่งทักษะเรื่องวิศวกรรม ดิจิทัล การวิเคราะข้อมูล นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ความยั่งยืน ESG และความสามารถทางภาษา ซึ่งหวังว่ากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวง อว. จะร่วมมือกับภาคธุรกิจมากขึ้น โดยทุกสิ่งที่ทำนั้นจะต้องทำให้เร็วที่สุดด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกนำมาแลกเปลี่ยนบนเวทีที่จัดขึ้นนี้ ซึ่งได้ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นจากตัวแทนภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้ง SCG สภาอุตสาหกรรม รวมถึงกระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ผมอดที่จะชื่นชมแนวทางใหม่ ๆ ของท่านรองนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรี ที่แสดงถึงความตั้งใจจริง พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะทุ่มเทให้เรื่องนี้เต็มที่ “เพื่อที่จะพัฒนาคน เพื่อคนจะไปพัฒนาชาติ” โดยผมคิดว่าความหวังของนัก CSR จากภาคธุรกิจที่ไปช่วยกระทรวงทั้งสองกันมาอย่างยาวนานนั้น น่าจะเป็นจริงและเห็นผลได้ในยุคนี้.