ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 ก.ย.65 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุง และกระบวนการซ่อมบำรุง ขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในขบวนรถ ที่ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ โรงงานมักกะสัน ซึ่งขบวนรถไฟดังกล่าวเป็นรถที่ รฟท. ได้รับมอบมาจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.64 จำนวน 17 คัน พร้อมกันนี้จะนำคณะขึ้นขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 เพื่อร่วมทดลองเดินขบวนรถไฟฯ เส้นทาง กรุงเทพฯ (โรงงานมักกะสัน)-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ (สถานีกรุงเทพ หรือสถานีหัวลำโพง) ด้วย

การเดินขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 เส้นทาง กรุงเทพฯ (โรงงานมักกะสัน)-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) จะใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับเส้นทางดังกล่าวประมาณ 2 ชั่วโมง ถือเป็นครั้งแรกที่จะเดินขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้นำรถไฟดีเซลราง Kiha 183 จำนวน 3 คันที่ปรับปรุง และทำสีแล้วเสร็จ ไปทดลองเดินรถในเส้นทาง กรุงเทพฯ (โรงงานมักกะสัน) – ศรีราชา จ.ชลบุรี-กรุงเทพฯ (โรงงานมักกะสัน) มาแล้ว ซึ่งราบรื่นดี ไม่พบปัญหาอุปสรรคใด ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงงานสีคันที่ 4 คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนกลางเดือน ก.ย.นี้

สำหรับแผนการทดสอบเดินรถไฟดีเซลราง KIHA 183 นั้น จะมีการทดสอบ 3 คันในช่วงต้นเดือน ก.ย.65 เส้นทาง กรุงเทพฯ-ลพบุรี จากนั้นจะทดสอบพร้อมกันทั้ง 4 คันแบบเต็มรูปแบบกลางเดือน ก.ย.65 หากการทดสอบทั้ง 4 คันไม่มีปัญหาใด คาดว่าจะสามารถนำรถไฟดีเซลราง Kiha 183 ทั้ง 4 คัน เปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายเดือน ก.ย.65 โดยจะให้บริการเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ระยะทางไป-กลับไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) อาทิ อยุธยา น้ำตก พัทยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และฉะเชิงเทรา จะใช้ความเร็วในการเดินรถประมาณ 95 กม.ต่อ ชม. 

รถไฟดีเซลราง Kiha 183 ที่ได้รับมาทั้ง 17 คัน ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับปรุง 4 คัน โดยในต้นปี 66 จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงอีก 4 คัน ส่วนที่เหลืออีก 9 คัน จะปรับปรุงในระยะถัดไป ทั้งนี้รถไฟ Kiha 183 แบ่งเป็น 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ อีก 1 ตู้เป็นรถสำรอง ใน 1 ขบวนมี 216 ที่นั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งเครื่องปรับอากาศ เบาะที่นั่งปรับเอนได้ ห้องน้ำระบบปิด เป็นขบวนรถที่ไม่ต้องใช้หัวรถจักร มีเครื่องยนต์ในตัว ทำความเร็วได้สูงสุด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ทั้งนี้ ในการปรับปรุงและการทำสีภายนอกตัวรถไฟ KIHA 183 นั้น รฟท. ยังคงเน้นสีขาว-ม่วง-เขียวอ่อน และน้ำตาล โดยเป็นสีดั้งเดิม เพื่อคงความเป็นญี่ปุ่น ให้ผู้ที่ชื่นชอบรถไฟญี่ปุ่น ได้สัมผัสกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ขณะที่ตัวอักษรต่างๆ บนป้ายต่างๆ ที่ชำรุด ได้ลอกแบบจากของเดิม และทำใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังคงใช้ภาษาญี่ปุ่นเดิม กับภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีภาษาไทยแทรกบ้างในบางจุดที่สำคัญ อาทิ ภายในห้องน้ำ และจุดฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น.