วันที่ 1 เม.ย. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ได้จัดงานสัมมนา Sustainable Daily Talk Action for Change : ทำเดี๋ยวนี้! เพื่อการเปลี่ยนแปลง ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ โดยภายในงานได้มีการจัดสัมมนาจากภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและฉายภาพแต่ละแวดวงอุตสาหกรรมถึงเรื่องการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นเวทีฉายภาพในหัวข้อ Action for Change : นวัตกรรมการเงิน เพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า ความยั่งยืนเป็นโจทย์ความท้าทายของสถาบันการเงิน ถ้าต้องการให้เกิด Action for Change ต้องทำอะไรบ้าง? โดยในปัจจุบันภาพรวมของโลกมีการปล่อยคาร์บอนมากถึง 53,800 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และในไทยมาการปล่อยสูง 372 ล้านตันคาร์บอนฯ
ส่วนธนาคารกสิกรไทยมีการปล่อยคาร์บอนมากถึง 36 ล้านตันคาร์บอน โดยธนาคารกสิกรไทย ได้เริ่มมุ่งดำเนินการและพัฒนาสู่ความยั่งยืน และยังเป็นธนาคารพาณิชย์แรกที่ได้รางวัล dow jones sustainability index 8 ปีติดต่อกัน ซึ่งในเรื่องของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ต้องทำไปพร้อมกัน
เริ่มจาก E (Environment : สิ่งแวดล้อม) เป้าหมายเริ่มแรกต้องรู้ว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยปล่อย 36 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ไปสู่เป้าหมายจะเป็นเน็ตซีโร่ในปี 2030 และเรื่องสินเชื่อสีเขียวและเพื่อความยั่งยืนภายในปี 2030 ตั้งวงเงินไว้ที่ 1-2 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เน็ตซีโร่ โดยในขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อส่วนนี้ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และจะเพิ่มไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ธนาคารยังต้องช่วยลูกค้าภาคธุรกิจอย่างคู่ค้า ซัพพลายเออร์ในการปรับตัวเปลี่ยนแปลง เมื่อมาขอสินเชื่อจะต้องผ่านเกณฑ์เรื่องอีเอสจี โดยจะดูว่าองค์กรนั้นมีนโยบายเกี่ยวกับสีเขียวหรือความยั่งยืนหรือไม่ ทำธุริจทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
“บทบาทแรกคือ ต้องคุยกับลูกค้าถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านโดยใช้กรีนโลน กรีนบอนด์ พลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงธนาคารกสิกรไทย กับ ธนาคารกรุงศรีฯ เป็นตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ช่วยภาคธุรกิจและประเทศไปสู่ Transition Finance เพื่อให้เป็นเน็ตซีโร่ (Net Zero) ตามบริบทในประเทศไทยในปี 2065 ซึ่งกสิกรไทยได้เตรียมแผนพูดคุยลูกค้าเริ่มจากโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องหยุดตั้งแต่วันนี้”
S (Social : สังคม) ธนาคารกสิกรไทยพยายามทำให้บริการเงิน มีบริการดีๆราคาไม่แพง ยุติธรรม เข้าถึงได้ ซึ่งจากข้อมูลคนไทยกู้เยอะมากกว่าออมเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยกว่า 7,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึง 30,000 บาท โดยมองว่าเรื่องการออมเป็นเรื่องสำคัญ และจากข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ภาพรวมของประเทศไทย คนไทยมีแผนการออมเงินและปฏิบัติตามมีเพียง 19% เท่านั้น และเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณและต้องเริ่มทันที
น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า ธนาคารมีเป้าหมายต้องทำให้คนไทยมีความแข็งแกร่งทางการเงินและต้องให้ความรู้ด้านการเงินคนไทย และภายในธนาคารกสิกรไทยให้พนักงานได้มีโปรแกรมให้ความรู้คิดนวัตกรรม แบ่งปันประสบการณ์ พร้อมกับเรื่องการสื่อสารพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ
ในเรื่องด้านช่วยสังคมยังมีของ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ได้เข้าไปช่วยสังคมที่จังหวัดน่านโดยยึดหลัก “ดินน้ำ น้ำก็ดี พืชผักเขียวขจี วิถีสุขสบาย” และยังช่วยไม่ให้ทำลายป่า ซึ่งมองว่าการบุกรุกทำลายป่าเกิดจากความยากจนไม่ได้รับการแก้ไข “ท่านบัณฑูร สร้างความอยู่ดีกินดีด้วยการสร้างโรงพยาบาล อนามัย หาอาชีพเสริม หาตลาดให้กับคนที่น่าน ทำแบบบูรณาการ”
G (Governance : ธรรมาภิบาล) สิ่งที่ต้องทำคือต้องติดตามวัดผลและสนับสนุน โดยคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยดูแลให้ความสำคัญ และต้องรายงานข้อมูลแก่คณะกรรมการ รายงานเป้าหมายด้านงาน ESG
“ความยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวเรา ค่อยๆขยายผล องค์กรเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ต้องเริ่มตัวเอง และสร้างผลต่อโดยรวมได้มากแค่ไหน”
“ซีอีโอ ธนาคารกสิกรไทย” กล่าวว่า แผนงานเพื่อให้เกิดขึ้น เช่น ต้องคิดไม่เหมือนเดิม , เรื่องต้นทุนผลิตออกมาแล้ว ขายได้จำนวนหนึ่ง แต่ถ้าขายให้มากกว่านั้น ต้นทุนต้องถูก , ทำงานร่วมกับลูกค้าผู้ซื้ออยากได้แบบไหน ออกแบบผลิตภัณฑ์จะได้มีคนซื้อ , ทำงานกับอีโคซิสเต็ม คนเกี่ยวข้องกับเรา ซัพพลายเออร์ ให้เป็นสีเขียว, หาคนที่เก่งร่วมทำงาน และต้นทุนการเงินที่ถูกราคาไม่แพง ขอสินเชื่อต้องออกแบบเพื่อให้ต้นทุนไม่ได้ถูกที่สุดแต่ต่อเนื่องมากที่สุด เป็นต้น
“ความท้าทายเป็นการเดินทางไม่รู้ว่าในทุกสเต็ปจะปรับอย่างไร ดังนั้นต้องค่อยๆปรับ ความทนทานด้านการเงิน อยากปล่อยสินเชื่อแต่ต้องบาลานซ์ว่ามีเงินมาคืนหรือไม่ด้วย ซึ่งประเทศไทย ต้องดูความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี พลังงานสะอาดมีพอหรือยัง ความมีเสถียรภาพด้านพลังงาน ต้นทุนว่ากรีนจริงหรือไม่ และเครื่องชี้วัดจากอะไร ที่สำคัญต้องทดลองทำ ถ้าทำไม่ได้ต้องกลับมาทำใหม่ ต้องร่วมกันทำร่วมทดลอง และยังต้องทำต่อเนื่องไม่มีวันจบ”