สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน เจอกับพวกเรา “ชาวบ้าน 1/4” กันอีกเช่นเคยนะคะ สัปดาห์นี้ก็จะพูดถึงเรื่องราวร้อนๆ ที่เป็นคดีสุดสะเทือนขวัญ และถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักอยู่บนโลกออนไลน์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับ “คดีฆาตกรรมป้าบัวผัน” ซึ่งเป็นเรื่องราวการเสียชีวิตของ “น.ส.บัวผัน ตันสุ” อายุ 47 ปี หรือ “ป้ากบ” หญิงสติไม่สมประกอบ ถูกกลุ่มวัยรุ่น 5 คน มีลูกของตำรวจร่วมกันฆ่าทิ้งสระน้ำข้างโรงเรียนพื้นที่ จ.สระแก้ว ที่มาพร้อมเรื่องราวการ “จับแพะ” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และโยงไปสู่การถกเถียงในสังคมไทยกับ “กฎหมายคดีกับเด็กและเยาวชน” กับโทษสถานเบาเกินกว่าพฤติการณ์ร้ายแรงที่ก่อเหตุ

โดยเรื่องราวคดีสะเทือนขวัญครั้งนี้เกิดจากเหตุการณ์พบศพหญิงวัยกลางคนสติไม่สมประกอบ ก่อนที่จะมาทราบชื่อ “ป้าบัวผัน” หรือ “ป้ากบ” สภาพพบถูกฆ่าทิ้งสระน้ำข้างโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งต่อมาได้มีการสืบสวนหาตัวคนร้าย ก่อนที่สุดท้าย “ลุงเปี๊ยก” หรือ “นายปัญญา คงแสนคำ” ชายวัย 54 ปี ผู้เป็นสามีของป้าบัวผัน ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายป้าบัวผันจนเสียชีวิต และมุ่งไปสู่การคุมตัวไปสอบสวนทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และฝากขังตามกฎหมาย

กระทั่งเกิดเหตุ “คดีพลิก” เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนจับพิรุธสามีผู้ตายสารภาพ จนมีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นว่าลุงเปี๊ยกไม่ใช่ผู้ต้องหา สู่การพบหลักฐานว่า “เยาวชนอายุ 13-16 ปี เป็นผู้ก่อเหตุ” และหนึ่งในผู้ก่อเหตุเป็น “ลูกของตำรวจระดับรองสารวัตรสืบสวน” ในท้องที่เกิดเหตุ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก พร้อมทำให้ชาวเน็ตถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเอาผิดกับเยาวชนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นอีกครั้งที่เกิดการถกเถียงในสังคมไทยเกี่ยวกับกฎหมายคดีเด็กและเยาวชน กับโทษสถานเบาเกินกว่าพฤติการณ์ร้ายแรงที่ก่อเหตุ โดยชาวเน็ตในสังคมส่วนใหญ่ต่างพากันถกเถียงถึงการ “แก้ไขกฎหมาย รวมทั้งการเพิ่มโทษให้เด็กและเยาวชน” ซึ่งชาวเน็ตบางส่วนให้เหตุผลเกี่ยวกับการแก้กฎหมายเยาวชนว่า “ถ้ายังเชื่อว่าปัญหาอาชญากรเด็ก เป็น “ปัญหาสังคม” สิ่งที่ควรทำคือการมองไปให้ถึงโครงสร้างสังคมที่หล่อหลอมเด็ก โรงเรียนสอนเด็กยังไง? ครอบครัวอบอุ่นไหม? และจะหยุดการผลิต “เด็กชั่ว” นี้ออกสู่สังคมได้ยังไง ไม่ใช่แค่เอาเด็กจับเข้าคุกผู้ใหญ่ แล้วก็ไชโย ไม่มีเด็กชั่วแล้ว”

ขณะที่บางส่วนได้แย้งว่า “ยกเลิกกฎหมายเยาวชนไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรในเด็ก แต่เพื่อให้ “ความยุติธรรมกับเหยื่อ” จะต้องแลกเหยื่ออีกกี่แสนชีวิตอะครับ ถึงจะเพียงพอดัดสันดานเด็กชั่วทั้งสังคมได้” อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเรื่องกฎหมายเยาวชนก็ยังคงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะประเทศไทยมี “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ที่เคยตกลงไว้บนเวทีประชุมระดับสากลโลก ที่มีสาระสำคัญว่า “หากกระทำความผิดอาญา มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนหลุดพ้นจากพฤติกรรมการกระทำความผิดและแก้ไขให้กลับมาเป็นคนดี”

สุดท้ายหากมองในเรื่องของ “วุฒิภาวะทางอารมณ์ และความคิด” เด็กและเยาวชนก็ยังไม่มีพัฒนาการด้านร่างกาย การคิดวิเคราะห์แยกแยะถูกผิด หรือควบคุมอารมณ์ ที่จะนำไปสู่การก่อความรุนแรงหรือกระทำความผิด แต่หากเรามองเรื่องหลัก “มนุษยธรรม” มนุษย์ทุกคนบนโลกเท่าเทียม ชีวิตเทียบชีวิต “มีค่าเท่ากัน” เราสามารถเลือกที่จะ “อยู่หรือตาย” ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการแก้ไขกฎหมายเยาวชนที่หลายคนมองไม่ใช่เป็นการยัดเยียดให้ “เด็กกลายเป็นอาชญากร” แต่แค่มอบ “ความยุติธรรม” ให้กับผู้สูญเสียที่ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาแก้ต่าง และทวงคืนความยุติธรรมให้กับตัวเองได้ และมองว่านี่เป็น “บทลงโทษ” ในสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งกระทำความผิดอย่างรุนแรงที่ควรจะได้รับ..