เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ยกเลิกระเบียบราชการ เมื่อปี 2542 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่งต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ เพื่อดูแลและป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ โดยการยกเลิกระเบียบดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาและหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น  ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตนขอชี้แจงว่าจากนี้ไป สถานศึกษาจะไม่มีการเข้าเวรของครูอีกต่อไปแล้ว โดยการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา จะให้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ทำแทน โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และการไม่เข้าเวรของครูจะไม่มีผลต่อการกระทำผิดทางวินัยด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ได้ให้นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดศธ. มอบหมายศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทุกแห่งเป็นเจ้าภาพในการประสานขอความร่วมมือฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ให้เข้ามาดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษา ขณะเดียวกันตนได้ทำหนังสือส่งไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้วว่าขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนแทนครู รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่และชุมชนด้วย ซึ่งจะทำคล้ายกับโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ แต่ปรับเปลี่ยนเป็นฝากโรงเรียนไว้กับตำรวจ ขณะเดียวกันได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งหนังสือสั่งการตามมติครม.เรื่องยกเลิกครูเข้าเวรไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศด้วย นอกจากนี้ในส่วนของการขอคืนอัตรานักการภารโรงนั้น ที่ประชุมครม.ได้รับทราบหลักการสนับสนุนให้จัดสรรนักการภารโรงให้ครบทุกสถานศึกษาในสังกัดสพฐ.ในอัตราที่ยังขาด 12,837 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567 รวม 5 เดือน ในวงเงินงบประมาณ 577,665,000 บาท

ต่อข้อถามว่าจากนี้ไปหากไม่มีครูเข้าเวรหากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ซึ่งความรับผิดชอบจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งตนไม่อยากให้มองว่าจะตั้งแง่ว่าใครจะต้องรับผิดชอบ แต่อยากให้นึกถึงความปลอดภัยตัวบุคคลเป็นหลัก แม้จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดแต่กล้องก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ แต่เมื่อมีบุคคลภายนอกเข้ามาประชิดตัวครูถึงในโรงเรียนเหมือนที่เป็นข่าวเกิดขึ้นจำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้ามาดูแลความปลอดภัย ซึ่งประเด็นนี้คือเหตุผลที่ต้องประสานฝ่ายความมั่นคงให้เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยแทน และไม่ใช่เป็นการเพิ่มภาระงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้วที่ต้องดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยในบ้านเมืองอยู่แล้ว

ด้านว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้แจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เขตพื้นที่รับทราบแล้ว และฝากให้เขตพื้นที่ต้องยึดแนวปฏิบัติตามมติครม.ที่ยกเลิกครูเข้าเวรด้วย ซึ่งรูปแบบการรักษาความปลอดภัยนั้นจะประสานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่และชุมชนได้เป็นรั้วโรงเรียนที่มั่นคง.