ซึ่งคำว่ากำไรไม่ใช่คำที่น่าเกลียด เพราะทำธุรกิจแล้วไม่มีกำไรก็จะไปไม่รอด แต่กำไรที่เรามี เอาแค่พอประมาณ ส่วนหนึ่งมอบให้กับสังคม ดังนั้นคำว่ายั่งยืน มันฝังลงไปในรากของการทำธุรกิจของบางจากฯ และอยู่ในดีเอ็นเอขององค์กร มีวัฒนธรรมของพนักงาน เป็นคนดี มีความรู้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นสิ่งที่บางจากสอนให้เรามองเรื่องสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลก ก่อนที่จะมีคำว่า ESG” กลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ตอบคำถามเรื่องความยั่งยืนของบางจากฯ คืออะไร กับทีม Sustainable daily ด้วยบรรยากาศสบาย ๆ แต่สายตามีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้ชัดเจน 

พร้อมขยายความต่อว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นโชคดีขององค์กร ที่ผู้บริหารได้วางรากฐานขององค์กรไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เราไปต่อได้ต่อเนื่องทั้งการวางแผน การทำงาน ตัวอย่างการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็น “รายแรก” ในประเทศไทย เช่น โครงการ “น้ำมันแลกข้าว” เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตรในช่วงราคาข้าวตกต่ำและน้ำมันแพง ซึ่งได้มีการพัฒนาเป็นปั๊มสหกรณ์หรือปั๊มชุมชนแห่งแรกในปี 2533 จนปัจจุบันมีปั๊มชุมชนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เป็น Social Enterprise ที่ยืนได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นของสมนาคุณลูกค้าสถานีบริการเพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และการเป็นผู้นำพลังงานทดแทน ผลิตไบโอดีเซล เอทานอลจำหน่ายในสถานีบริการในปี 2548

บางจากผู้นำยุคบุกเบิกสีเขียว

หรือเมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บางจากฯ เป็นบริษัทไทยรายแรกที่ไปลงทุนเหมืองแร่ลิเทียมในทวีปอเมริกาใต้ผ่านบริษัทในสหรัฐอเมริกา และขยายธุรกิจพลังงานสะอาดผ่าน บมจ.บีซีพีจี รวมถึงตั้งสถานีบริการน้ำมัน GEMS ต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม มีระบบกักเก็บพลังงานและซื้อขายไฟฟ้าผ่านบล็อกเชน และเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ของประเทศ ที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ใน ค.ศ. 2050 ผ่านแผน BCP316 NET เมื่อปี 2563 ยังได้สร้างระบบนิเวศต่าง ๆ สำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Winnonie จัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง Synthetic Biology และล่าสุดได้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือเอสเอเอฟ จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วรายแรกในประเทศไทย ซึ่งประเด็นพวกนี้ เป็นเรื่องที่ คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญอย่างมาก

“เรามาอยู่บางจากฯ รู้สึกเป็นของจริง ไม่ใช่สร้างภาพ  บางจากฯ เขียวจากข้างใน พยายามส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ถามว่า ยากมั้ย ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ร่วมมือกัน ความยั่งยืนของบางจากฯ เราสามารถอยู่รอดได้ สังคมรอบข้างก็อยู่รอดอย่างยั่งยืน ภายในก็ยั่งยืน ในแง่ของพนักงาน มีความสุขผูกพันกับองค์กร อยากอยู่กับองค์กร และมองเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ล่าสุดบางจากฯ ได้รับการโหวตติดอันดับ 10 องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานมากที่สุดในปี 2567 จากการสำรวจของ เวิร์คเวนเจอร์ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก”   

เน้นลงมือทำให้ยั่งยืน

บางจากให้ความสำคัญกับ  Climate Action มาก เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน เพราะเป็นเรื่องที่โลกให้ความสำคัญ  ยิ่งอยู่ในธุรกิจพลังงาน ดังนั้นการวางแผนธุรกิจต้องสอดคล้องกับสภาวะภูมิอากาศ เรามีการประกาศตั้งเป้าหมาย เป็น carbon neutral ปี 2030 และเป็น net zero ปี 2050 ซึ่งเราเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ และยังให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงานและสิ่งแวดล้อม เรื่องของความยั่งยืน นั่นคือสาเหตุทำให้ปีที่แล้วเข้าซื้อหุ้นเอสโซ่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงให้กับลูกค้าสามารถเข้าไปใช้บริการปั๊มน้ำมันกว่า 2,200 แห่ง ในราคาที่ยุติธรรม เพราะอย่างช่วงที่มีปัญหาในเรื่องราคาน้ำมัน บางจากฯ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ช่วยตรึงราคา  

สำหรับการทำงานเรื่องความยั่งยืนร่วมกับเอสโซ่ มีความต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะเอสโซ่ก็ทำงานร่วมกับชุมชนเช่นกัน แม้ปัจจุบันยังไม่ร่วมกันโดยสิ้นเชิง แต่มีการทำงานสนับสนุนร่วมกัน และดูแลของแต่ละพื้นที่ มองว่าต้องใช้เวลาให้ซึมซับเข้าหากันของคนเก่าและคนใหม่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนดูงาน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ได้มีความท้าทายอะไร เขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่เอามาละลายให้เข้ากัน เพราะเราพยายามปรับทุกอย่างเข้ามาอยู่ภายใต้แบรนด์ไอเดีย “Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” ที่ได้เปิดตัวไปเร็ว ๆ นี้  

สร้างเคพีไอพนักงานทำซีเอสอาร์

“เราให้ความสำคัญกับพนักงาน บางจากมีเคพีไอเรื่อง CSR ให้พนักงานสามารถทำ KPI ในเวลาทำงาน โดยที่หัวหน้างานอนุญาตให้ทำประโยชน์ต่อสังคม ลงมือทำจริงไม่ใช่แค่มอบสิ่งของ โดยวันนี้เรามี CSR ใหม่เรื่องของไคลแมกซ์ แอ็กชัน เช่น กิจกรรมคัดแยกขยะ หรือการลดการใช้ไฟฟ้า หรือการใช้รถสาธารณะ และเติมน้ำมันบางจากที่เป็นผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรามีแอปพลิเคชันที่ให้พนักงานบันทึกลงรายละเอียด 2 ปีที่ผ่านมาเห็นระดับของการเข้าร่วมเพิ่มขึ้น เช่น ขยะกำพร้าทุกวันพฤหัสบดี ที่จะมีคนมารับขยะจากสถานที่ทำงานและพนักงานนำมาจากบ้าน ซึ่งจะมีรายละเอียดบอกว่าช่วยลดคาร์บอนไปเท่าไร รวมถึงมีการพกกระบอกน้ำ ทำให้เป็นกิจวัตร ไม่ได้บังคับ แต่เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้เขารู้ว่าได้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ CSR ของพนักงานคือ การปรับปรุงคุณภาพชีวิตในชุมชน หรือโรงเรียนต่าง ๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคม สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงปลอดภัย

ส่วนการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย net zero ปี 2050 ธุรกิจก็จะมีการปรับตัวตาม โดยประมาณกว่า 50% การลงทุนของบางจาก ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเป็นธุรกิจโลว์คาร์บอน ผสมกับธุรกิจดั้งเดิม แต่ธุรกิจใหม่ ๆ จะเน้นโลว์คาร์บอนมากขึ้น ธุรกิจดั้งเดิมยังคงมีอยู่เพราะเรายังต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล รถยนต์ รถไฟ เรือ หรือเครื่องบินยังต้องใช้พลังงานส่วนนี้ แต่จะอยู่ยังไงให้ยั่งยืนขึ้น ดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เช่น น้ำมันเครื่องบินที่เราเริ่มปรับทำ SAF ที่จะเริ่มดำเนินการ ที่มุ่งไปทางนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืน รวมทั้งพอร์ตของธุรกิจที่มีธุรกิจสีเขียวเข้ามาในพอร์ตมากขึ้น ธุรกิจโลว์คาร์บอนเข้ามามากขึ้น เป็นการทำให้สะอาดขึ้น ขาวขึ้น และดำน้อยลง รวมถึงการหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ เช่น การศึกษาพลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

เปิดแผน BCP 316 NET

สำหรับแผนดำเนินงานสู่เป้าหมาย net zero ผ่าน BCP 316 NET ครอบคลุมทุกส่วน คือ B : 30% ปรับประสิทธิภาพการทำงาน ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน ดูแลการลดด้วยตัวเอง ส่วน C : 10% สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ระบบนิเวศจากป่า โครงการปลูกป่ากับหน่วยงานต่าง ๆ ระบบนิเวศทางทะเล ดูแลแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการประเมินคาร์บอนเครดิต และ P : 60% เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เช่น เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือการดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ยังให้ความรู้กับซัพพลายเออร์ พูดคุยกับซัพพลายเชน เพราะว่าเราไปคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการสื่อสารหารือเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรอย่างครบวงจร รวมถึงดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ต้องร่วมมือกันสู่เป้าหมาย net zero ของบางจาก.

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]