กรณีศึกษาใหม่ล่าสุดจากเกาหลีใต้ระบุว่า การรับประทาน “กิมจิ” ประมาณ 3 ครั้งต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยโรคอ้วนได้ในกลุ่มผู้ใหญ่
ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร British Medical Journal Open เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ใจความสำคัญของผลงานชี้ว่า หากรับประทาน “แพชูกิมจิ” หรือกิมจิผักกาดขาว วันละ 3 ครั้ง จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคอ้วนในกลุ่มผู้ใหญ่โดยแบ่งเป็นลดความเสี่ยงของกลุ่มผู้ชายได้ราว 10% และ 8% สำหรับกลุ่มผู้หญิง
นอกจากนี้ การรับประทาน “กักดูกีกิมจิ” หรือกิมจิหัวไชเท้า ก็ให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกัน โดยสามารถลดอัตราเสี่ยงการป่วยเป็นโรคอ้วนในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายราว 8% และ 11% ในกลุ่มผู้หญิง
ทีมที่เป็นผู้รับผิดชอบผลงานวิจัยในครั้งนี้เป็นกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจุงอังแห่งกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ทำการวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรียโปรไบโอติกที่สร้างกรดแลกติกซึ่งมีประโยชน์สำหรับลำไส้ของคน แบคทีเรียชนิดนี้เติบโตและขยายจำนวนในระหว่างกระบวนการหมักดองกิมจิ โดยมีกรณีศึกษาก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าแบคทีเรียโปรไบโอติกเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก
การวิจัยครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับแผนวิจัยของสถาบันกิมจิโลก (World Institute of Kimchi) แห่งเกาหลีใต้ โดยนำข้อมูลจากกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 40-69 ปี จำนวน 115,726 คน จากกรณีศึกษาของ HEXA (Health Examinees) มาวิเคราะห์ร่วมกับการตอบคำถามของคนกลุ่มนี้ในหัวข้อการรับประทานกิมจิและความถี่ในการรับประทาน
นอกเหนือจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของลำไส้แล้ว กิมจิยังเป็นแหล่งวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ, ซี, เค นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์อีกมากกว่า 10 ชนิด
สำหรับประโยชน์อื่น ๆ ของกิมจิ ได้แก่ ช่วยลดการอักเสบ, กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและมีแนวโน้มว่าจะช่วยชะลอวัยได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตและเตือนว่า หากรับประทานกิมจิเกินกว่า 5 ครั้งต่อวัน กลับจะกลายเป็นตัวเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะกิมจิเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง อีกทั้งยังมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต, ไขมันและโซเดียมสูง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
ที่มา : nextshark.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES