เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวเตือนภัยคิดก่อนคลิก กรณีที่อาจจะมีเหล่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสแอบแฝงตัวมากับการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่า ปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและองค์กรต่างๆ ทางรัฐบาลจึงมีโครงการในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นเงิน 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน ครั้งที่ 2 จะเริ่มโอนเข้าบัญชีในวันที่ 27-28 ก.ย. จึงอาจมีเหล่ามิจฉาชีพที่อาศัยช่องว่างดังกล่าวในการกระทำความผิด โดยอาจจะมาในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือการส่งเอสเอ็มเอส ทางโทรศัพท์มือถือ หรือลิงก์ต่างๆ ที่มีลักษณะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขบัตรเครดิต หรือให้ใส่รหัส OTP เป็นต้น เมื่อได้ใส่ข้อมูลลักษณะดังกล่าวไปแล้วเหล่ามิจฉาชีพก็อาจจะนำข้อมูลที่ได้ไปหาประโยชน์ในทางมิชอบและทำให้ได้รับความเสียหายในอนาคต จึงขอให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตรวจสอบสิทธิของตนเองให้ชัดเจน และปฏิบัติตามขั้นตอนที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโทม มีความห่วงใยในเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ขับเคลื่อนนโยบาย โดยการสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วย ให้สืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยการกระทำในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้อย่าหลงเชื่อข้อมูลการโพสต์ หรือลิงก์ที่แนบมาพร้อมกับเอสเอ็มเอสที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ไป ห้ามเปิดลิงก์ดังกล่าวอย่างเด็ดขาดและห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ผ่านระบบออนไลน์ หากยังไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน กรณีพบข้อความที่น่าสงสัย ให้สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ส่วนกรณีหลงเชื่อไปแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที และรีบแจ้งตำรวจ หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร สถาบันทางการเงิน เป็นต้น อีกทั้งหากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง