ประเทศไทยมีการผลิตเพียงพอ มีเสถียรภาพความมั่นคง มีมาตรฐานสากล และราคาเหมาะสม รองรับความต้องการต่อภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะพลังงานสะอาด กำลังเป็นพลังงานยุคใหม่ของโลก!!! ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาท่ามกลางวิกฤติ “โลกเดือด” ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้พลังงานดั้งเดิม หรือพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเดินหน้าลดการใช้พลังงานดั้งเดิม โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิลสู่ “พลังงานสะอาด” เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึง “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (กนอ.) ซึ่งดูแลพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกว่า 68 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม เป็นสถานที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้กระทรวงอุตสาห กรรม ที่ดูแลกนอ. ผนึกกำลังเดินสายโรดโชว์ พร้อมทั้งชู “พลังงานสะอาด” เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน

พลังงานสะอาดโจทย์ใหญ่นักลงทุน

ล่าสุด “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ได้นำคณะการนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินสายร่วมเดินสายโรดโชว์ ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย “พิมพ์ภัทรา” ระบุว่า ปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่สอบถามถึงแนวทางการสนับสนุนไฟฟ้าพลังงานสะอาดของประเทศเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นทิศทางความต้องการของตลาดโลก ซึ่งแต่ละบริษัทมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนที่ชัดเจน

“ประเทศไทย ยืนยันหนักแน่นกับนักลงทุนต่างชาติว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และเดินหน้าอย่างจริงจัง ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีแผนจะปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 50% จากเดิม 28% ภายในปี 2573 คาดว่า จะประกาศแผนนี้เร็ว ๆ นี้ นับเป็นจุดขายของประเทศไทย ที่ช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ”

เอ็มโอยูญี่ปุ่นศึกษากรีนยูทิลิตี้

สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (กรีน ยูทิลิตี้) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาห กรรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษา และพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ “การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว” คาดว่า ความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาห กรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต

สำหรับไอเอชไอ และไอเอชไอเอพีที เป็นบริษัทฯที่ทำอุตสาหกรรมหนัก เช่น การต่อเรือ อากาศยาน พลังงานไฟฟ้าและวางระบบการจัดการอินฟาร์สตัคเจอร์ โดยบริษัทฯ มีความสนใจในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและการให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการบรรลุตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ดึงเมติพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

“ความร่วมมือภายใต้เอ็มโอยูฉบับนี้ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการบูรณาระบบสาธารณูปโภคสีเขียวกับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับโรงงานต้นแบบของโครงการที่สามารถนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงาน เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในพื้นที่นิคมฯ”

นอกจากนี้ยังได้พบนายไซโต เค็น รมต.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งประเทศญี่ปุ่น เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท

ลอง 3 ระยะก่อนร่วมเชิงพาณิชย์

ด้าน “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการกนอ. ขยายความว่า การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทย และญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่กนอ. เน้นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวโดยใช้พลังงานทดแทนเป็นเวลา 1 ปี ระยะที่ 2 ตั้งโรงงานต้นแบบสาธิตที่นำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จังหวัดระยอง และระยะที่ 3 หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้ ก็จะดำเนินการร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์

“ความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้ได้ 40% ในปี 2573 ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของนักลงทุน อาทิ มีการนำเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานมาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นต้น รวมทั้งสามารถนำผลการศึกษามาพัฒนาต่อยอดในการสร้างธุรกิจ
ต่อไปในอนาคต”.

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]