เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยถึงภาพรวมการปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ว่า ปัจจุบันระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ หรือ ระบบที่ประชาชนใช้แจ้งเหตุร้องเรียนมายังกทม. นั้นมีประชาชนแจ้งเรื่องมาแล้วกว่าครึ่งล้านเรื่อง 


จากสถิติก่อนเปิดให้ร้องเรียนผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ มีแจ้งเข้ามาราว 74,000 เรื่องต่อปี  ภายหลังมีราว 270,000 เรื่องต่อปี และเชื่อว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภาพรวมแล้ว จนถึงตอนนี้มีแล้ว 503,386 เรื่อง โดย กทม.แก้ไขเองเสร็จสิ้นแล้ว 392,120 เรื่อง ส่วนที่เหลืออยู่ในกระบวนการส่งต่อให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง , ข้อมูลไม่ครบถ้วนอยู่ระหว่างประสานขอข้อมูลเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างดำเนินการ 

 

โดยวันแรกที่มีการเปิดให้ประชาชนร้องเรียนผ่านระบบนั้น มีผู้แจ้งเข้ามามากถึง 20,000 เรื่อง  ระยะเวลาในการแก้ปัญหาเฉลี่ยแต่ละเดือนจากมิ.ย.65 พบระยะเวลาในการแก้ปัญหา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 33 วันต่อเรื่อง แต่ปัจจุบัน ระยะเวลาในการแก้ปัญหาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-3วัน ส่งผลให้แนวโน้มความพึงพอใจเฉลี่ยรายเดือนสูงขึ้นที่ 4.11/5

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดแข็งของทราฟฟี่ฟองดูว์ มี 4 อย่างคือ1.การเปลี่ยนจากระบบเดิม เช่น การส่งจดหมายมาถึงผู้ว่าฯกทม.จะถึงมือของผู้ว่าฯกทม.ไหม หรือโทรศัพท์มีสายเพียงพอหรือไม่ มาเป็นระบบแพลทฟอร์ม ทำให้ข้อจำกัดในอดีตหมดไป  2.ไม่มีแรงเสียดทาน ในอดีตต้องโทรมาในช่วงเวลาราชการ แต่ระบบแพลทฟอร์ม ไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา สามารถแจ้งได้ ตลอด 24 ชม. ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีการแจ้งในช่วงเวลานอกราชการและหลังเลิกงานเป็นจำนวนมาก 

3.ขยายได้โดยไมีมีข้อจำกัด เพราะระบบแพลทฟอร์มมีพื้นที่ไม่จำกัดสามารถข้อมูลเรื่องได้มากจากปัจจุบันก็มีมากกว่า500,000เรื่อง โดยไม่ต้องจ้างโอเปอเรเตอร์เพิ่มเพราะคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีไม่มีข้อจำกัด และ 4.มีฟีดแบค เราเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถคอมเมนต์ได้ว่าดีไม่ดี ในอดีตการร้องเรียนเป็นการสื่อสารทางเดียวแต่ระบบแพลตฟอร์มนี้ เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารสองทาง เพื่อจะได้ทราบว่า สิ่งที่ดำเนินการไปนั้นดีหรือไม่

สำหรับปัญหาในการแก้ปัญหา ยังคงเป็นการแก้ปัญหาเป็นการชั่วคราวไม่ใช่ถาวร  การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกทม.โดยตรงจะเป็นหน่วยงานที่ส่งต่อให้ดำเนินการ


นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคตว่า จะนำเอาฟีดแบคที่ได้รับทั้งหมดมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ปัจจุบีนตั้งทีมงานที่คอย Monitor สำรวจการทำงานของเขตทุกเช้า และได้สั่งการให้รองปลัดกทม. นำปัญหาต่างๆมาปรับปรุงการทำงาน เพราะบางเรื่องต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานให้ดีขึ้น และให้เจ้าหน้าที่ได้มีทรัพยากรในการทำงานแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น 


“เชื่อว่าประชาชนรู้สึกว่าเราได้ให้อำนาจกับประชาชนและเราเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา และมีการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน โดยนำข้อมูลที่ได้รับมาต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวร การต่อยอดนวัตกรรม เข่นการติดตั้งกล้องวงจรปิดในระบบ AI เพื่อตรวจจับและติดตามดำเนินคดีกับผู้ลักลอบทิ้งขยะ การพัฒนานวัตกรรมรถเก็บขนขยะ รถหัวลากมูลฝอย เพื่อความเหมาะสมของการเข้าเก็บขยะในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน และพื้นที่เล็ก การติดตั้งเสาเอสการ์ดเพื่อป้องกันรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า การเพิ่มจุดบริการด่วนมหานคร BMA Express Service ”


ส่วนปัญหาร้องเรียนที่พบบ่อยครั้ง นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่มักพบการร้องเรียนบ่อยๆ คือ ทางเท้า หาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตในเมือง แต่จะเห็นว่าหลายเขตดีขึ้น ปัญหาการทิ้งขยะ ซึ่งพยายามแก้ในระยะยาวให้มากขึ้น สำหรับขณะนี้ปัญหาที่พบการร้องเรียนเพิ่มขึ้น คือเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการเปิดสถานบันเทิง ซึ่งได้แก้ไขด้วยการติดตั้งเครื่องวัดเสียงเก็บข้อมูล 24 ชั่วโมง เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งนี้บางเรื่องอาจทำไม่ได้ทันที แต่กทม.จะพยายามทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้น 

“การแก้ปัญหาโดยใช้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ คือการเป็น Smart City ตัวจริง การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพราะเราคงไม่มีงบประมาณในการติดตั้งกล้อง CCTV ได้ทั้งกทม. การให้ประชาชนเป็นเซ็นเซอร์สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทซิตี้ ในการส่งข้อมูลให้เรา เป็นหัวใจของ Empower หรือการให้อำนาจให้กับประชาชน หน้าที่ฝ่ายกทม.คือการเคารพสิ่งที่ประชาชนแจ้งมา และทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งวันนี้หลายเขตต้องพลิกรูปแบบการทำงาน” นายชัชชาติ กล่าว