สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบหลักฐานใหม่ ซึ่งระบุว่า ดาวอังคารเคยมีแหล่งน้ำ และมีแร่ธาตุที่มีโมเลกุลของน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งอาจนำไปใช้ประโยชน์ระหว่างการปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารในอนาคต


ผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงใน วารสารไซเอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เผยว่าแอ่งขนาดใหญ่บนดาวอังคารเคยมีน้ำสถานะของเหลว ในยุคแอมะซอน (Amazonian epoch) ซึ่งเป็นยุคทางธรณีวิทยาล่าสุดของดาวอังคาร


การค้นพบนี้ได้เพิ่มสัญญาณบ่งชี้ว่าดาวอังคารมีน้ำอยู่จริง ซึ่งบอกเป็นนัยว่ากิจกรรมเกี่ยวกับน้ำในสถานะของเหลวอาจคงอยู่บนดาวอังคาร นานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งกักเก็บน้ำในรูปแบบแร่ธาตุที่มีโมเลกุลของน้ำเป็นส่วนประกอบ และน้ำแข็งบนพื้นผิวจำนวนมาก


คณะนักวิจัยนำโดยนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะตะกอน และแร่ธาตุทางตอนใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ที่ราบขนาดมหึมาทางซีกเหนือของดาวอังคาร ซึ่งรวบรวมโดยจู้หรง (Zhurong) ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีน


คณะนักวิจัยอธิบายว่า หินสีสดใสที่กล้องของจู้หรงบันทึกภาพได้เป็น “ชั้นแข็ง” (duricrust) ซึ่งอาจถูกปั้นขึ้นโดยน้ำในสถานะของเหลวปริมาณมาก และบางทีอาจเป็นน้ำบาดาลที่พุ่งขึ้น หรือน้ำแข็งใต้ผิวดินที่ละลาย โดยเปลือกแร่ซัลเฟตที่เป็นของแข็งนั้น แตกต่างจากชั้นแข็งที่บางและอ่อนกว่า ซึ่งสำรวจพบโดยยานสำรวจดาวอังคารลำอื่น และอาจก่อตัวขึ้นจากการปฏิกิริยาของไอน้ำ


อนึ่ง ผลการศึกษาของจีนอีกฉบับหนึ่ง ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ จีโอไซแอนซ์ (Nature Geoscience) เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า บริเวณที่ยานจู้หรงลงจอดนั้น อาจเคยประสบภาวะถูกกัดเซาะจากลมและน้ำ.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA