เมื่อวันที่ 29 ก.พ. นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการประชุม กรณีข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เรื่องแนวเขตที่ดินของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 2 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนที่กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้แก่ 1.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ 2.กรมแผนที่ทหาร ยังมีประเด็นโต้เถียงกันในเรื่องแนวเขต โดยกรมอุทยานฯ ไม่ยอมรับแนวเขตตามแผนที่ที่นำเสนอโดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งแผนที่ชุดนี้ คือ แผนที่ซึ่งทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยึดถือเป็นแนวเขตในการดำเนินการ และแผนที่ของกรมแผนที่ทหารชุดนี้เป็นชุดเดียวกับที่ได้ส่งรายงานไปให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ กรมอุทยานฯ ได้ให้เหตุผลของความไม่ถูกต้องว่า ตามกฎหมายจะต้องยึดแนวเขตตามแผนที่แนบท้าย มาตราส่วน 1 ต่อ 250,000 ในพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2505 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2505

นายอภิชาติ กล่าวว่า การได้มาซึ่งแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เดิมนั้นเกิดจากการสำรวจผ่านกล้องรังวัดมุม โดยมีการทำหลักหมุดไม้แก่นที่กำหนดเขตอุทยานรวมทั้งหมด 938 จุด และในสมัยนั้นได้มีการจดจัดทำไว้ใน “สมุด Field Book หรือ สมุดจดงานภาคสนาม” เก็บไว้ด้วย โดยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานฯ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการบันทึก Field Book ซึ่งที่อื่น ๆ ไม่มี แต่ปรากฏว่าหลักหมุดที่เกิดมาจากการสำรวจครั้งแรก ก่อนมีการจัดตั้งอุทยานฯ แห่งนี้ มีความผิดเพี้ยนของแนวเขตหลายจุด เมื่อเทียบกับแผนที่ตาม พ.ร.ฎ. ของกรมอุทยานฯ โดยกรมแผนที่ทหารได้อ้างวิธีการได้มาของแผนที่แนวเขตล่าสุดซึ่งทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใช้อ้างอิงว่า “เป็นการถอดมาจาก Field Book เล่มเดิม ร่วมกับการสำรวจหลักหมุดจริงและสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่โดยรอบ และนำไปทำเป็นแนวเขตผ่านระบบ GIS (Geographic Information System) หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์” อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯ จะต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไป

ประธานกมธ.ที่ดินฯ กล่าวว่า หลังจากแผนที่ตามพระราชกฤษฎีกาของกรมอุทยานฯ ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2505 ในเวลาต่อมา ได้มีการทำแผนที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้มีอัตราส่วนละเอียดขึ้นเป็น 1 ต่อ 50,000 และภายหลังยังมีโครงการทำแผนที่ ONE MAP หรือแผนที่ตามอัตราส่วน 1 ต่อ 4,000 เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งแผนที่ ONE MAP ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้นำส่งคณะรัฐมนตรีให้รับรองและประกาศใช้ เนื่องจากยังมีปัญหาแนวเขตทับซ้อนของเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ของ จ.ปราจีนบุรี แต่กลับไม่มีปัญหาการทับซ้อนของเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ของ จ.นครราชสีมาในระหว่างการประชุมจัดทำ ONE MAP ร่วมกันของทุกหน่วยงาน หากตอนที่มีการทำ ONE MAP แนวเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ของจ.นครราชสีมา มีความไม่ตรงกันของแนวเขต ทำไมสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในจังหวัดไม่มีการชี้แจงหรือโต้แย้ง แต่กลับปล่อยให้กระบวนการ ONE MAP ผ่าน ถือว่าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จ.นครราชสีมา ยอมรับมติของที่ประชุมอนุกรรมการ ONE MAP

นายอภิชาติ กล่าวว่า กระบวนการการออกที่ดิน ส.ป.ก.ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จ.นครราชสีมา ยอมรับว่า กระบวนการในการตรวจสอบสิทธิเป็นไปโดยมิชอบ และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการตรวจสอบสิทธินั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการท้วงติงจากหน่วยงานอื่น ๆ ในการทำรังวัดที่ดิน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ก็ไม่ทราบในเรื่องนี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ จะต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไป ทั้งนี้จะเรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพิ่มเติมวันที่ 6 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 นายวุฒิพงศ์ เนียนหอม ในฐานะรองเลขาธิการปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ ส.ป.ก.ในขณะนั้น ได้ลงนาม แจ้งผลการตรวจสอบความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ดินทำกิน ตามหนังสือ เลขที่ กษ.1605/9229 มีเนื้อหาว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้พิจารณาการตรวจสอบแปลงที่ดิน พบว่าแปลงที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน โดยแปลงที่ดินตั้งอยู่ในโครงการที่จำแนกป่าเขาใหญ่ และทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตามเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ประกาศเขตพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2505 ใช้ในการพิจารณาตรวจสอบแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 ต่อ 4000 (ONE MAP) และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 ต่อ 4000 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่.