เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอริณชย์ ทองแตง (อิน) และ ด.ญ.อริสา ทองแตง (เอม) ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยทั้งคู่เป็นผู้ก่อตั้ง “Below the Tides กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นสนใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในน้ำ” ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งเน้นการปลูกฝังให้รัก ห่วงแหน และเห็นความสำคัญของธรรมชาติ เคยทำโครงการ “Below the Tides: Zero Starving Sea Turtles (อิ่มท้องน้องเต่า)” โดยการเชิญชวนทุกคนร่วมกันอนุบาลลูกเต่าทะเล เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของเต่าทะเลจาก 0.1% กรณีที่ปล่อยไปตามธรรมชาติให้สามารถรอดได้ถึง 70 % โดยโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงด้วยดี สามารถระดมทุนช่วยเหลือน้องเต่า สำเร็จ 600,000บาท ตามเป้า เพียงพอสำหรับการดูแลลูกเต่าราวๆ 100 ตัว
เสี่ยงสูญพันธุ์! 2 พี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ผุดโครงการระดมทุนช่วยเต่าทะเล
กระทั่งต่อมาทั้งสองได้มีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่อาทิ โครงการ Net Zero @อัมพวา: บอกลาคาร์บอน กู้วิกฤตโลกร้อน ที่จะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนเรือนำเที่ยวจากที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ และ โครงการปลูกกล้า ป้องแผ่นดิน ปลูกต้นโกงกางเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม และล่าสุดที่กำลังเร่งเดินหน้าปกปักรักษาธรรมชาติทางทะเล เป็นโครงการ “ปะ ปลา ยูน หญ้า @เกาะหมาก” จ.ตราด เป็นการมุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูปะการัง ที่กำลังมีการระดมทุนช่วยเหลือชาวชุมชนอยู่ขณะนี้
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยถึงโครงการ “ปะ ปลา ยูน หญ้า @เกาะหมาก” ว่า จุดเริ่มต้นโครงการมาจากคุณแม่พาไปเกาะหมาก ช่วงเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เคยไปที่เกาะหมาก การเดินทางก็ถือว่านานพอควร เพราะนั่งรถไปราว 300 กิโลเมตร และยังต้องไปต่อเรือไปเกาะ แต่พอเห็นสีของน้ำทะเล และความใสของน้ำ ความเหนื่อย ความรู้สึกลำบากมันหายไปเลย และได้มีโอกาสไป snorkeling ดำน้ำรอบบริเวณเกาะหมากและบริเวณรอบๆ เห็นถึงความสวยงามของท้องทะเลที่นั้น ประกอบกับได้มีโอกาสพบคุณลุงอึ่ง – นายนพดล สุทธิธนกูล ผู้ซึ่งเป็นหัวหอกในการรวมกลุ่มคนในชุมชนขึ้นมาและก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก (Koh Mak Coral Conservation Group) และเป็นผู้ที่ให้ความรู้พวกเราในเรื่องการปลูกปะการังเทียม และความสำคัญของปะการัง
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยอีกว่า ลุงอึ่ง บอกว่าเนื่องจากสภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการฟอกขาวของปะการัง และตายในที่สุด ประกอบกับการท่องเที่ยวที่มาแบบไม่ดูแล เช่นการว่ายน้ำ ดำน้ำ เหยียบปะการัง การขับเรือเพื่อกิจกรรมทางทะเลอย่างดำน้ำ ตกปลา ทิ้งสมอเรือแถวแนวปะการัง ทำให้เกิดการแตก หัก อีกทั้งการประมงผิดกฏหมายเช่น เรือประมงขนาดใหญ่มีการเข้ามาในพื้นที่และระเบิดปลา ยาสลบเพื่อที่จะได้จับปลาให้ได้จำนวนมากๆ ทำให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ส่งผลกระทบโดยตรงกับการขยายพันธุ์ของสัตว์ทะเลที่ใช้แนวปะการังในการวางไข่ หาอาหาร และอนุบาลตัวอ่อนความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเล และบริเวณนี้มีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่ง Blue carbon ช่วยเก็บกักคาร์บอนไดออกไซค์ได้อย่างดีเยี่ยม และจะกลายเป็นแหล่งอาหารที่นำมาซึ่งสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์ทั้งเต่าทะเล และ พะยูนที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า ซึ่งการจะปลูกทดแทนหญ้าทะเลในบริเวณนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพื้นทะเลด้านล่างเป็นซากปะการัง นอกจากนี้ ในเชิงเศรษฐกิจเกาะหมากเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวทางทะเล ถ้าความสมบูรณ์ทางท้องทะเลด้อยลงไป ก็คงหลีกหนีไม่พ้นต่อการสูญเสียความได้เปรียบ และความสามารถในการแข่งขันกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ และเนื่องจากงบประมาณในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลมีจำกัด และอาจจะมีพื้นอื่นหรือเหตุการณ์ที่มีความเร่งด่วนมากกว่าที่เกาะหมาก แต่การฟื้นฟูรักษาปะการังที่เกาะหมากนั้นไม่ยากเกินกำลัง เนื่องจากคนในชุมชนมีความตระหนักรู้ ตั้งใจที่จะทำและร่วมมือกัน เพียงแต่ขาดเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐในการทำนุบำรุงแนวปะการัง ยิ่งทำเร็ว ทำก่อนก็ยิ่งดี เพื่อคืนสภาพแนวปะการังให้สมบูรณ์ และคงไว้ซึ่งจุดแข็งเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันเชิงธุรกิจทั้งทางประมงและการท่องเที่ยวในระดับสากล
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า จากการพูดคุยกับคุณลุงอึ่ง จึงกลายมาเป็นโครงการ ปะ ปลา ยูน หญ้า @เกาะหมาก ที่ต้องการระดมทุนให้ได้ 300,000บาท ให้กับกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก (Koh Mak Coral Conservation Group) ในการโยกย้ายปะการังที่อนุบาลจากแปลง PVC รวมแล้วประมาณ 1,800 กิ่ง ก่อนที่มันจะประสานกัน เพื่อนำปะการังที่โตได้ขนาดไปแซมในร่องทรายที่มีปะการังเก่าบังอยู่ในธรรมชาติให้สวยยิ่งขึ้น และนำแปลง PVC ชุดเดิมมาใช้ซ้ำในการอนุบาลปะการังรุ่นต่อๆไปได้ เพื่อทำให้แนวปะการังเดิมอุดมสมบูรณ์ และยั่งยืนการบูรณาการปะการัง ด้วยการสร้างปะการังเทียม (Artificial Reef) ทำจากวัสดุที่แข็งแรง เช่น อิฐ โครงเหล็ก ท่อคอนกรีต อิฐบล็อก ตะแกรงเหล็ก กาว สายรัดเคเบิ้ล ตะปู เพื่อทนทานต่อกระแสน้ำในท้องทะเล มีน้ำหนักมั่นคง ทำให้การเคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย เป็นที่เกาะยึดของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดได้ดี อีกทั้งจะกลายเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดใหญ่ในลักษณะของสายใยอาหาร (food web) และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลน้อย จึงทำเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ทะเล เป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ปะการังจริงสามารถก่อตัวขึ้นอีกครั้ง และแพร่ขยายเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ในท้องทะเล
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า สำหรับขั้นตอนการปลูกปะการังเทียม เริ่มจาก เก็บเศษปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่แต่แตกหักอยู่ในธรรมชาติมาแช่น้ำเพื่อเตรียมสำหรับการปลูก อย่าให้แห้ง นำท่อ PVC มาทำเป็นแปลงอนุบาลขนาด 60*120 เซนติเมตร โดยที่แต่ละแปลงจะมีท่อให้ปักปะการัง (แบบแจกัน) ได้ประมาณ 12-15 กิ่งพันธุ์ แล้วนำปะการังที่แช่น้ำไว้มาขันยึดไว้กับท่อ PVC ก่อนจะเสียบลงไปในแท่น PVC bed ที่เป็นแปลงอนุบาล เมื่อเสร็จแล้วนักดำน้ำจะนำแปลงอนุบาลไปวางตรงบริเวณที่ต้องการใต้ทะเล ตอกแปลงเพื่อยึด PVC bed ไว้ใต้น้ำ เอาไปเสียบในหิน ในซอก ในหลืบ หรือเอากาว epoxyมายึดติด ปะการังจะปล่อยหินปูนมาหุ้ม PVC รอบๆจนมองไม่เห็น ข้อสำคัญคือการจัดวางปะการังเทียม ต้องมีช่องว่าง รู เพื่อให้น้ำผ่านได้สะดวก ง่ายต่อสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยภายใน
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า ส่วนในกรณีที่เป็นเศษปะการัง ประเภท ปะการังโขด (Porites lutea) หรือปะการังรูปทรงแบบก้อน มีการใช้อิฐบล๊อกที่มีพื้นที่ราบในการทำปะการังเทียมวางในน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ต้องการเกาะติด เช่นปะการังสาหร่าย หอยนางรม จะทำการยึดโดยใช้กาวอีพ็อกซี่บนฐานยึดเกาะ อีกวิธีคือใช้ตะปูเหล็กยาวประมาณ 2 นิ้วตอกลงไปเพื่อเป็นแกนยึดแล้วใช้สายรัดยึดติดกิ่งพันธุ์ติดกับตะปูเหล็ก หลังจากนั้นต้องคอยลงไปดูว่าปะการัง มันเชื่อมกันไหม ทั้งทางด้านข้างหรือด้านบน เพราะกิ่งเวลามันแตก มันเชื่อมกันเลยเพราะฉะนั้นต้องลงไปคอยดูทุกอาทิตย์ อีกทั้งปะการังแต่ละสี แต่ละชนิดอยู่ติดกันไม่ได้ กิ่งที่ติดกันจะตายหมด และมันก็จะเชื่อมกันไม่ได้ มันจะเป็นแผลถลอก เช่น ปะการังเขากวางสีเขียว ไปวางติดกับสีม่วง ก็ไม่ได้ หรือ ปะการังเขากวางไปแปะติดกับปะการังโขดก็ไม่ได้นะ ปะการังโขดจะตายหมดเพราะปะการังเขากวางโตเร็วกว่ามันจะไปคลุมแดดหมดเลย พอมันโตก็ค่อยย้ายมันไปปลูกตามแนวธรรมชาติ
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า ส่วนระยะเวลาในการระดมทุน เริ่มวันที่ 5 ม.ค.2567 – 5 ก.ค.2567 รวมระยะเวลาระดมทุนประมาณ 6 เดือน ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยากให้ปะการังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของลูกปลา เพิ่มทั้งจำนวนปลาและความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ตามที่คุณลุงอึ่งอธิบายว่าจากที่สังเกตพบว่า หลังจากปลูกปะการังผ่านไปสัก 2 ปีเห็นว่ามีปลาเล็กมาอยู่แถวนั้นแล้ว ปลาใหญ่ก็จะตามมาเวียนไหว้ข้างนอก ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการปลูกปะการังเทียม (Artificial habitats) ดึงดูดให้สัตว์น้ำเข้ามาอยู่อาศัย หลบภัยและมีโอกาสแพร่พันธุ์มากขึ้น ทำให้การประมงก็จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่มีปะการังให้ปลาเล็กซ่อน ปลาใหญ่ก็ไม่มา แนวปะการังมีผลต่อหญ้าทะเลในแง่ที่มันช่วยลดการกระแทกของคลื่นลม (hydrodynamics) หรือในช่วงที่มาพายุ มรสุมแก่หญ้าทะเล
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า ซึ่งช่วยให้เกิดการเก็บชั้นตะกอน (sediment accumulation) และเลี่ยงการกัดกร่อนและไหลออก มันจะช่วยทำให้ ดง (meadow) หญ้าทะเลมีความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนได้ดียิ่งขึ้น ดง (meadow) หญ้าทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกักเก็บคาร์บอนหญ้าทะเลสามารถเก็บกักคาร์บอนได้สูงกว่าระบบนิเวศป่าบกเขตร้อนถึง 10 เท่า โดยเก็บในรูปแบบของมวลชีวภาพ ผ่านการสังเคราะห์แสงของพืช และดักจับจากตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่น เพราะตัวหญ้าทะเลเองนั้นช่วยลดคลื่นน้ำให้เบาลง ทำให้เกิดการสะสมของคาร์บอนได้ ซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะเรียกว่า Blue carbon มีการศึกษาวิจัยพบว่าถ้าแนวปะการังมีการเชื่อมต่อกับทุ่งหญ้าทะเลยิ่งจะเพิ่มการสะสมของอินทรีย์ตะกอน (sediment organic carbon) และเก็บรักษาสารอินทรีย์ในดินได้มากขึ้น แนวปะการังช่วยป้องกันแนวชายฝั่งจากการกร่อน และการพังทลายของตะกอน (sediment erosion) จากการกระแทกของคลื่นลม และดง (meadow) หญ้าทะเลนี้เป็นตัวแทนของระบบการให้บริการในส่วนของ ecosystem และมีศักยภาพในการช่วยลดทอนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า อีกทั้งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เป็นแหล่งอาหาร ที่หลบภัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลาปักเป้าหนามทุเรียนด่างดำ (Black-blotched porcupinefish) เม่นดำหนามยาว (Long-spined sea urchin) ปูม้า (swimming crab) ดาวทะเลปุ่มแดง (Horned sea star) ปลาข้างลาย (Four lined terrapin) หนอนตัวแบน (Flatworm) เม่นดอกไม้ (Flower sea urchin) ทากทะเล (Nudibranch) ดอกไม้ทะเลพรม และ เห็ดหลุบ (Haddon’s sea anemone) กุ้งดอกไม้ทะเลหางนกยูง (White spot anemone shrimp) หอยมือเสือ (Giant clam) ปลิงดำ (Black sea cucumber)ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งนั้นหมายความถึงความต้องการที่พักเพิ่ม ต้องการเรือเพื่อเดินทาง ต้องหาร้านอาหารเพื่อรับประทาน ชุมชนดีขึ้นโดยรวม การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน ตอกย้ำความสำเร็จของเกาะหมากที่ได้รับการรับรองมาตรฐานว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 (Green Destinations Top 100 2022 Stories) จัดโดย Green Destinations Foundation และได้รับการโหวตให้เป็น Low Carbon Destination โดยการคัดเลือกของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายอิน – ด.ญ.เอม เผยว่า ส่วนรายละเอียดค่าใช้จ่าย และแผนการใช้เงินของโครงการในการสมทบทุนให้กับกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับกิจการฟื้นฟูทางทะเลของหมู่เกาะหมาก เช่น การออกเรือในแต่ละครั้งเพื่อฟิ้นฟู รักษาปะการัง จะใช้บุคคลากรประมาณ 6 คน ค่าน้ำมันเบนซินเฉลี่ยวันละ30ลิตร ๆประเมินว่าไม่เกิน 40บาทต่อลิตร เท่ากับประมาณ 1,200 บาท ค่าถังอากาศถังละ 200 บาท สำหรับ 5 คน เป็นเงิน 1,000 บาท ค่าอุปกรณ์ดำน้ำ คนละ 100 บาท รวม 500 บาท ค่าอาหารมื้อกลางวัน คนละ 100 บาท สำหรับ 6 คน รวม 600 บาท และค่าอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ใช้ในการปลูกปะการังเทียมตกประมาณ 2,000 บาท เวลาออกเรือแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยจะวางแปลงอนุบาล 15 กิ่ง ต่อ 1 เฟรม ขนาด 1.2 เมตร * 60 ซม. รวม 5 แปลง และสำรวจพื้นที่ๆเสียหายจากนักท่องเที่ยว และการประมงผิดกฏหมาย สำรวจพื้นที่แนวธรรมชาติ พื้นที่รวมราม 200 ไร่ทั้งบริเวณเกาะหมาก และ เกาะกูด อย่างต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดตามดูความคืบหน้าโครงการต่างๆของทั้งสองได้ที่ www.belowthetides.com IG: belowthetides_ FB: Below the Tides ส่วนผู้ที่เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศธรรมชาติสามารถช่วยสนับสนุนช่วยเหลือได้ที่ https://taejai.com/th/d/below-the-tides-kohmakcoral_en/