วันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ จัดงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Daliynews Talk 2024) หัวข้อ “เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่..ท็อปเท็นโลก อย่างยั่งยืน” โดยมี น.ส.พิมพ์ภัทรา  วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ หลังจากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?” โดยมีนายสุวัชร์  ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ นายพงษ์ศักดิ์  เลิศฤดีวัฒนวงศ์  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนา

นายกฤษฎา  อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ตั้งมาตั้งแต่ปี 58 ตั้งแต่มีรถไฟฟ้าในตลาดน้อย ปัจจุบัน มีสมาชิก 390 ราย ประกอบด้วย บริษัทรถ ชิ้นส่วน ประกัน  เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าทั้งระบบ สมาคมฯ ถือเป็นด่านหน้าในการให้ข้อมูลกับบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาในไทย เช่น เทสลา สมาคมฯ ก็ได้ให้ข้อมูลไป โดยอุตฯรถไฟฟ้า ที่เติบโตทั่วโลก เกิดจากหลายๆ ประเทศต้องการเปลี่ยนระบบขนส่ง ด้วยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร

“ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปี 2035 จะมีสัดส่วนเกินครึ่งของตลาดรถยนต์ โดยประเทศจีนจะเป็นตลาดใหญ่มาก เกินครึ่งของทั่วโลก  ส่วนในอาเซียนก็มีการเปลี่ยนแปลง มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งโรงงานในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศไทยมีโอกาสมากกว่าจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุน ทำให้การใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และมีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิต”

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 3 ปี 66 ที่ผ่านมา ยอดขายรถไฟฟ้าในไทย 5 หมื่นคัน เมื่อถึงสิ้นปีมียอดจดทะเบียน 7.6 หมื่นคัน มีรถขายทั้งหมด 54 โมเดล จาก 25 แบรนด์ ในสิ้นปีที่ผ่านมา โดยผลตอบรับดี ทำให้เติบโต โดยส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าจากจีน ส่วนสถานีชาร์จมี 9,600 หัวจ่าย  จาก 2,200 โลเคชั่น เป็นสัดส่วนประมาณ 20 คันต่อ 1 หัวจ่าย โดยในปีนี้ จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอีก การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ประโยชน์จะอยู่ที่ผู้บริโภค ส่วนผู้ประกอบการต้องปรับตัว

“เราเห็นแนวทางภาครัฐให้การสนับสนุนจากนโยบาย อีวี 3.0 ถึง อีวี 3.5 ทำให้ต่อไปประเทศไทยจะมีรถไฟฟ้ามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องดูเรื่องวิธีการกำจัดเรื่องแบตเตอรี่อย่างไร ต้องดำเนินการแบบครบวงจร  สมาคมฯ ได้หารือกับนายกฯ เพื่อขอพื้นที่ในการจัดการแบตเตอรี่เป็นพื้นที่เฉพาะในอีอีซี เพื่อเป็นฐานจัดการแบตเตอรี่แบบครบวงจร”  

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า รถไฟฟ้าจะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ลดลง มูลค่าจึงจะอยู่ที่เรื่องแบตเตอรี่ ที่ผ่านมาไทยนำเข้า 100% แต่ตอนนี้มีการตั้งโรงงานผลิตแล้ว ก็มีโอกาสที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานรถไฟฟ้า ซึ่งการที่ประเทศไทย จะเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้า มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง เมื่อมองดูประเทศต่างๆ ในอาเซียนไม่มีนโยบายส่งเสริมแบบไทย ที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น เรื่องภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

“สื่งสำคัญ คือเรื่องไทยต้องสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียวมากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการเข้ามาตั้งโรงงาน นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องคนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เนื่องจากการมีโรงงานเข้ามาตั้ง เรามีความพร้อมภาคแรงงาน และหลักสูตรการเรียนการสอนต้องมีการพัฒนา รองรับตลาดแรงงานในอนาคต รัฐต้องจับมือกับเอกชน ให้แรงงาน นักศึกษา มีสถานที่ฝึกงาน และต้องผลักดันให้เกิดการค้าร่วมทุนการค้าไทย และรถที่ผลิตจากไทยมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ ก็มีโอกาสกระจายสินค้าจากไทยไปต่างประเทศได้มาก”